วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การสอนแบบบูรณาการเพื่อสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์

บทนำ
          การดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาอย่างไม่แยกส่วน โดยมุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดในลักษณะขององค์รวมมากขึ้นในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ  เริ่มมองถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาในลักษณะขององค์รวมที่เรียกว่าการศึกษาแบบบูรณาการ (learning integration) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนอย่างกว้างขวางในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากศาสตร์ที่หลากหลายสัมพันธ์กับความสนใจของตนเอง  โดยที่นักการศึกษาได้รวม หรือบูรณาการศาสตร์หลายสาขาวิชาเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนมีกระบวนการที่ข้ามสาขาวิชา หรือสอนแบบการวิเคราะห์โดยไม่มีขอบเขตจำกัดในหัวข้อของการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนมีความสัมพันธ์กันในเชิงกว้างมีระดับของการบูรณาการหลายระดับ
ความสำคัญของการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เริ่มต้นจากนักปรัชญาการศึกษาชาวอังกฤษ ชื่อ John Lock ที่เสนอแนวคิดการจัดการศึกษาว่า เด็กไม่มีเวลาและกำลังที่จะศึกษาเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ดังนั้นเด็กจะสนใจแต่เฉพาะสิ่งจำเป็นและใช้บ่อยที่สุด (วิเชียร อินทรสมพันธ์, 2549 : 49) ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักการศึกษาชื่อ John Dewey ได้เผยแพร่แนวคิดของ “กระบวนการสอน” ว่าเป็นการจัดสภาพแวดล้อมของผู้เรียนให้มีความเหมาะสม หลากหลาย ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง และได้ตั้งโรงเรียนชื่อ “Dewey School” เมื่อ ค.ศ.1896 โดยใช้ปรัชญาการเรียนการสอนตามแนวคิดของ Dewey ที่กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนต้องพัฒนาผู้เรียนในลักษณะเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในตัว มิใช่เป็นการพัฒนาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการจึงเป็นกระบวนการริเริ่มสร้างสรรค์ที่ผู้สอนต้องผสมผสานเนื้อหาสาระรายวิชาและวิธีสอนที่ประสบความสำเร็จจากที่ได้เรียนรู้ในอดีตเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาผู้เรียนโดยองค์รวม (Morickel ,1998: 23-29)
Gardner (1994) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญา (multiple intelligence theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นการสอนแบบผู้เรียนเป็นสำคัญ (student-centered teaching strategies) ที่ผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ให้ความรู้ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ผู้ส่งเสริมและผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ โดยจัดแหล่งเรียนรู้ให้ครบทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้องและมุ่งเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าการสอนเนื้อหาวิชาของผู้สอน (นงลักษณ์ วิรัชชัย, บุบผา เมฆศรีทองคำ และธีรวัฒน์ ฆะราช, 2551: 19-20)
            จากความเป็นมาของการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ จะเห็นได้ว่าการสอนแบบบูรณาการมีความสำคัญให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในส่วนของสาระวิชา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการพัฒนาทางเจตคติต่อสิ่งที่เรียนรู้ ทั้งสามส่วนดังอย่างพัฒนาไปอย่างควบคู่กัน ไม่แยกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิตจริง เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงและมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงเนื้อหาวิชาต่างๆ ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้

ความหมายของการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
การบูรณาการ (Integration) มีนักการศึกษาให้ความหมายหลายท่านดังนี้
Filbeck (1998) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นการให้มีอิสระแก่ผู้เรียนในการเลือกกิจกรรม
Jacobs (1989) กล่าวว่าการบูรณาการเป็นการผสมผสานศาสตร์สาขาต่างๆ เข้ามาในหัวข้อ (theme) หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
Lake (2000) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการทำให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ทำให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้น
Lemtech (2002) กล่าวว่าการบูรณาการไม่ใช่การเน้นเนื้อหาวิชา แต่สอนทั้งเนื้อหาและทักษะที่ผู้เรียนต้องการ
สุมน อมรวิวัฒน์ (2544 : 33) กล่าวว่า การบูรณาการเป็นการเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ตั้งแต่สองสาขาขึ้นไปที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันมาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กว้างขวาง และสมบูรณ์ เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และพัฒนาผู้เรียนรู้ให้รู้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น
วัฒนาพร  ระงับทุกข์ (2545 : 11) กล่าวถึงการบูรณาการว่า ควรหมายรวมถึงการบูรณาการกระบวนการต่างๆ ในการเรียนการสอนด้วย เช่น กระบวนการคิดสร้างสรรค์ กระบวนการกลุ่ม
ธำรง บัวศรี (2542 : 201) ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การบูรณาการการเรียนการสอน ต้องพยายามให้เกิดการบูรณาการใน 4 ลักษณะ ต่อไปนี้ให้ครบถ้วน คือ ลักษณะที่ 1 บูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้ ลักษณะที่ 2 บูรณาการระหว่างพัฒนาทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ ลักษณะที่ 3 บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ และลักษณะที่ 4บูรณาการสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน รายละเอียดแต่ละลักษณะมี ดังนี้
1. บูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องให้กระบวนการเรียนรู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความรู้ คือผู้เรียนต้องทราบว่าตนจะแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการอย่างไร
2. บูรณาการระหว่างพัฒนาทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ คือให้ความสำคัญด้านพุทธิพิสัยและด้านจิตพิสัย ซึ่งได้แก่ เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ และความสุนทรียะควบคู่กัน เนื่องจากถ้าผู้เรียนมีประสบการณ์ที่สร้างความรู้สึกพึงพอใจและประทับใจก็จะมุ่งมั่นในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ การเรียนรู้เรื่องค่านิยมและการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเลือกค่านิยมที่เหมาะสมซึ่งจะปรากฏผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมหรือการแสดงออกของผู้เรียน การแยกความรู้ออกจากการกระทำจึงเหมือนกับการแยกหลักสูตรออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้
4. บูรณาการสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน หลักสูตรต้องให้ความสนใจต่อความต้องการ ความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของผู้เรียน เพื่อให้บทเรียนมีความหมายต่อชีวิตของผู้เรียน
            ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นการเชื่อมโยงสาระของศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ผสมผสานกระบวนการและ คุณลักษณะต่างๆ เข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างสมดุลทุกด้าน และสอดคล้องกับการดำรงชีวิตจริงในสังคม

แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณการแบ่งได้ 2 ลักษณะคือ การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้และการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียน มีรายละเอียด ดังนี้ (อัญชลี สาระรัตนะ 2542: 11; กรมวิชาการ 2544: 15)
1. การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ลักษณะการบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างเนื้อหาภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันหรืออาจกล่าวได้ว่าภายในวิชาเดียวกัน กลุ่มประสบการณ์เดียวกันมาสัมพันธ์กัน เช่น ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ สอนเรื่องจำนวนและการดำเนินการ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แทนที่ผู้สอนจะแยกเนื้อหาเรื่องจำนวน เรื่องการดำเนินการ ผู้สอนก็นำเนื้อหาทุกเรื่องมาสัมพันธ์ โดยสมมุติกรณีตัวอย่าง ร้านเช่าหนังสือการ์ตูน ร้านเช่าหนังสือการ์ตูนมีการ์ตูนแต่ละประเภทแล้วครูผู้สอนเขียนจำนวนผู้เช่าการ์ตูนแต่ละประเภท แล้วให้ผู้เรียนคำนวณค่าจำนวน ร้อยละของผู้เช่าการ์ตูนแต่ละประเภท
2. การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ นำเนื้อหาสาระหลายวิชามาสัมพันธ์กัน รูปแบบการบูรณาการถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เช่น นำเนื้อหาสาระวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปะ ดนตรี มาประสานเป็นเรื่องเดียวกัน ภายใต้หัวเรื่อง (theme) ที่เลือกมา จำแนกการบูรณาการเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย การบูรณาการแบบสอดแทรก การบูรณาการแบบคู่ขนาน การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ และ การบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือร่วมกันสอนเป็นคณะ การบูรณาการแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
2.1 การบูรณาการแบบสอดแทรก (infusion integration) ลักษณะการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบสอดแทรกซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยครูผู้สอนเพียงคนเดียว สอดแทรกเนื้อหาวิชาอื่นๆเข้าไปในวิชาของครูผู้สอน
2.2 การบูรณาการแบบคู่ขนาน (parallel integration) ลักษณะการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบคู่ขนานจัดการเรียนการสอนโดยครูผู้สอน 2 คน สอนคนละวิชากัน ต่างคนต่างสอนต่างวางแผนร่วมกัน ตามหัวเรื่อง (theme) ความคิดรวบยอด (concept) หรือปัญหาเดียวกัน (problem) ร่วมกันระบุหัวเรื่อง แล้วครูผู้สอนแต่ละคนแยกกันสอน ชิ้นงานที่ครูผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนทำก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนแต่ละวิชา การสอนต้องสะท้อนถึงหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด ปัญหาที่ครูระบุร่วมกัน
2.3 การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ (multi-disciplinary integration) ลักษณะการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบพหุวิทยาการจัดการเรียนการสอนโดยครูผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สอนกันคนละวิชา วางแผนร่วมกันตามหัวเรื่อง (theme) ความคิดรวบยอด (concept) หรือปัญหาเดียวกัน (problem) แล้วต่างคนต่างสอนเนื้อหาตามที่ได้รับมอบหมาย มีการมอบหมายงานหรือโครงการ (project) ร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงความรู้วิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน
2.4 การบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือร่วมกันสอนเป็นคณะ (tran-disciplinary integration) ลักษณะการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบข้ามวิชาจัดการเรียนการสอสนโดยครูผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สอนคนละวิชากัน ร่วมกันวางแผน ปรึกษาหารือ สร้างหน่วยเรียนรู้บูรณาการร่วมกัน โดยกำหนดหัวเรื่อง (theme) ความคิดรวบยอด (concept) หรือปัญหาเดียวกัน (problem) ร่วมกันกันเป็นคณะโดยสอนผู้เรียนกลุ่มเดียวกัน ในกรณีที่ต้องการเน้นทักษะด้านใดพิเศษ รูผู้สอนสามารถแยกกันสอนได้ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายดนตรี กิจกรรมเข้าค่ายภาษาอังกฤษ กิจกรรมเข้าค่ายศิลปะ เป็นต้น
ดังนั้น แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณจึงเป็นวิธีการหรือแนวทางให้ครูผู้สอนเกิดการบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ตนเอง และการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนอื่นๆ ที่มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน
 ประโยชน์การบูรณาการการเรียนการสอน
            การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มีความสำคัญทางด้านการเรียนรู้ ทักษะกระบวนการและการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสาขาวิชาและของสถานศึกษา ซึ่งการบูรณาการมีหลากหลาย และประโยชน์ ดังนี้
            1. การเชื่อมโยงช่องว่างของการถ่ายโอนความรู้ (bridging the transference gap) การสอนตามหลักสูตรทั่วไปก่อให้เกิดช่องว่างในการถ่ายโอนความรู้ (a transference gab) กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ของความต้องการสาระความรู้ (acquisition) มีความแตกต่างจากสถานการณ์ของการลงมือปฏิบัติ (performance) ที่จะก่อให้เกิดช่องว่างในการถ่ายโอนความรู้ขึ้น การสอนเนื้อหาให้ผู้เรียนเรียนรู้ถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากการนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติจริง นั่นคือ ขาดการเชื่อมโยงความรู้ และนับเป็นปัญหาของการใช้แนวทางการสอนเนื้อหาตามหลักสูตร (curriculum approach) ในทางตรงกันข้าม การสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะ จะบรรจุคุณงามความดีต่าง ๆ ไว้ในกระบวนการของการมีปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ช่องว่างจะลดลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือ แทนที่จะเรียนรู้เพียงสาระของคุณงามความดี แต่ผู้เรียนต้องเรียนรู้โดยผ่านการฝึกปฏิบัติ
            2. การฝึกซ้ำ (repeated practice) สิ่งที่ผู้สอนต้องเผชิญในจัดการการเรียนการสอนแต่ละช่วงเวลา คือ มีเนื้อหาสาระในหลักสูตรจำนวนมาก ถ้าสอนสาระเกี่ยวกับคุณงามความดีผ่านไปแล้ว ก็จะไม่มีเวลาที่จะกลับมาทบทวนสาระเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการสอนตามหลักสูตรก็จะเป็นเพียงการประกันคุณงามความดีนั้นจะได้รับการสอนและถูกลืมไปในที่สุด ส่วนแนวทางการสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะ จะฝึกฝนสถานการณ์ของการนำคุณงามความดี โดยฝึกในลักษณะที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตประจำวันในทุกรายวิชา รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนการนำคุณงามความดีมาใช้มากขึ้น
            3. ช่วยลดเวลาการเตรียมการสอน (repeated practice) โดยทั่วไปแล้วครูจะมีเวลาในการเตรียมการสอนไม่มาก ซึ่งแนวทางการสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะนั้น ครูจะเรียนรู้โครงสร้างของคุณลักษณะเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้น ก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติในทุกบทเรียน
            4. การบูรณาการคุณลักษณะกับหลักสูตร (integrating character and curriculum) ในสภาพที่เกิดขึ้นจริง เมื่อสิ้นสุดภาคเรียนแล้ว ครูยังสอนเนื้อหาสาระไม่ครบถ้วนทั้งเนื้อหาในหลักสูตรและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคุณงามความดี ครูส่วนใหญ่มักเลือกที่จะสอนเนื้อหาสาระมากกว่าสอนคุณธรรมจริยธรรม แต่แนวทางการสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะการสอนสาระของคุณงามความดีจะผูกติดกับเนื้อหาในหลักสูตร ไม่ได้แยกออกมาต่างหาก จึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ดีงามในขณะที่เรียนรู้ศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ
            5. การสอนคุณลักษณะแทนการทดสอบที่มีแรงกดดัน (teaching character despite testing pressures) การทดสอบตามหลักสูตรทำให้ครูต้องสอนเนื้อหาที่เน้นตามแบบทดสอบมาตรฐานนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สอดคล้องกับกรอบของหลักสูตร โดยมองข้ามการสอนสาระที่เน้นด้านคุณงามความดีต่างๆเพราะไม่มีการประเมินด้านนี้ในแบบทดสอบเหล่านั้น แต่ถ้าครูใช้ความหลากหลายของโครงสร้างในการทดสอบผู้เรียนจะสามารถพัฒนาคุณงามความดีด้านต่างๆ ได้โดยไม่ต้องยึดกับเนื้อหาที่ครูสอนเพียงอย่างเดียว
            6. การหยุดยั้งวงจรการแทนที่ (breaking the replacement cycle) ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ของแนวทางการสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะ คือ การหยุดยั้งวงจรการแทนที่ คือ ผู้สอนพยายามที่จะแทนที่ นวัตกรรมการศึกษาหนึ่งกับนวัตกรรมการศึกษาอื่นๆ  เช่น พยายามออกแบบบทเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือแทนการเรียนรู้ลักษณะเดิม หรือเมื่อเรียนรู้ถึงเรื่องพหุปัญญา ก็พยายามสร้างบทเรียนที่สอดคล้องกับหลักการของพหุปัญญา แล้วยกเลิกบทเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ ต่อมาก็แทนที่ด้วยบทเรียนที่สอดคล้องกับความสามารถทางสมอง (brain compatible lessons) หรือ นวัตกรรมอื่นๆ ที่โด่งดัง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นความพยายามที่จะใช้นวัตกรรมโดยผ่านการทางการออกแบบบทเรียนใหม่ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ครูไม่สามารถจะพัฒนาบทเรียนที่ซับซ้อนเพื่อที่จะใช้นวัตกรรมครั้งล่าสุดในขณะเดียวกัน ครูไม่สามารถสอนบทเรียนที่ซับซ้อน เพื่อจะใช้นวัตกรรมของปีที่แล้วได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางการสอดแทรกโครงสร้างทางคุณลักษณะจะสามารถหยุดยั้งวงจรการแทนที่ดังกล่าวนั้น กล่าวคือ แทนที่ครูจะสร้างบทเรียนที่เสริมสร้างคุณลักษณะเป็นการเฉพาะขึ้นมา ครูก็สามารถใช้ยุทธศาสตร์การสอนที่ช่วยพัฒนาคุณลักษณะในบางส่วนของทุกๆ บทเรียนของทุกๆ รายวิชา และยังถือเป็นเครื่องมือสำหรับการฝึกใช้ช่วงเวลาในชีวิตจริงด้วย
            ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการมีประโยชน์เป็นอย่างมาต่อตัวผู้เรียนที่เป็นความพยายามของผู้สอนที่จะเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน และจะเป็นประโยชน์ในระดับสถานศึกษา ระดับชั้นเรียน ซึ่งครูผู้สอนควรมุ่งเน้นพัฒนาความรู้ต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการพัฒนา (knowledge) ปลูกฝังจิตสำนึก (feeling) ต่อคุณลักษณะที่ต้องการพัฒนาและจัดกิจกรรม สถานการณ์ ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง (action) โดยมีการสอดแทรกคำถามให้ผู้เรียนคิดเชิงวิพากย์ (critical thinking) ต่อคุณลักษณะที่ต้องการพัฒนาอยู่เสมอ
กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
            การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการนั้นมีกระบวนการของการบูรณาการหลายระดับอาจมีการวางแผนบูรณาการในหลักสูตรระดับต่างๆ เช่น ระดับชาติที่จัดหลักสูตรบูรณาการเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ บูรณาการระดับรายวิชาในแต่ละระดับชั้น บูรณาการในระดับชั้นหรือช่วงชั้น บูรณาการในระหว่างกิจกรรมโครงการที่ชั้นเรียนจัดขึ้น Harden (2000 : 551-557) เสนอขั้นตอนการบูรณาการการเรียนการสอนไว้ 11 ขั้นตอนดังนี้
            1. ความอิสระของศาสตร์ (Isolation) ศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเป็นอิสระออกจากกัน การเรียนการสอนแต่ละรายวิชาดำเนินการไปตามผู้สอนกำหนดไว้โดยไม่มีการเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน จึงไม่มีสภาพความสัมพันธ์ใดๆ กับวิชาอื่น
            2. การเริ่มตระหนักในความสัมพันธ์ (Awareness) ในขั้นตอนแรกความโดดเดี่ยวเปรียบได้กับการเป็นฐานวิชาใดวิชาหนึ่งโดยตรง การทำให้เริ่มตระหนักในความสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆจะทำให้ลดความโดดเดี่ยวลง ซึ่งอาจดำเนินการได้โดยรายละเอียดต่าง ๆ ในวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตรที่ใช้ร่วมกันอยู่เช่น การศึกษาเอกสารหรือการสื่อสารที่กล่าวถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในแต่ละรายวิชาอื่นๆ
            3. การประสานสัมพันธ์ (Harmonization) ขั้นตอนนี้ ผู้สอนเริ่มมีส่วนรับผิดชอบในการสอนในวิชาอื่นๆหรือช่วยสอนในสาระหน่วยอื่น ๆ ในวิชาเดียวกันกับผู้สอนคนอื่น ๆ มีการปรึกษาซึ่งกันและกันเกี่ยวกับวิชาที่สอน กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การสนทนาอาจจะเกี่ยวข้องกับตัวผู้สอนตัวต่อตัว หรือ เป็นกลุ่มผู้สอน กระบวนการกลุ่มที่เกิดขึ้นอาจมาจากผู้สอนในรายวิชาโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการดำเนินการกระบวนการกลุ่ม กระบวนการนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรวิชา ขั้นตอนนี้จึงเปรียบได้เหมือนกับการเชื่อมโยงศาสตร์ของวิชายังคงเป็นอิสระแต่เริ่มมีการเชื่อมโยงเนื้อหาวิชาไปสู่ศาสตร์วิชาอื่น ๆ
            4. การผนึกเข้าด้วยกัน (Nesting) การผนึกเข้าด้วยกันเป็นขั้นตอนการบูรณาการของเป้าหมายวัตถุประสงค์ของผู้สอนคนหนึ่งไปสัมพันธ์กับทักษะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้สอนในอีกรายวิชาหนึ่ง การผนึกเข้าด้วยกัน หรือการโยงใยเป็นรังผึ้งทำให้ศาสตร์ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ในวงกว้างขวางกว่าเดิม แต่สภาพการสอนและสาระยังคงเป็นรายวิชานั้นอยู่
            5. การร่วมมือซึ่งกันและกัน (Temporal co-ordination) ขั้นตอนนี้ มีผู้สอนแต่ละรายวิชายังคงรับผิดชอบโปรแกรมในการเรียนการสอนของตน ช่วงเวลาการสอนสาระยังเกี่ยวข้องกับสาระวิชาโดยตรง แต่มีการศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิชาอื่นๆ เช่น การจัดตารางสอนในการอภิปรายผลการเรียนการสอนภายใต้เนื้อหาวิชาแต่ละรายวิชาที่กำลังดำเนินการเรียนการสอนอยู่
            6. การแบ่งปัน (Sharing) วิชา 2 วิชา อาจมีข้อตกลงร่วมกันในการวางแผนและได้ประโยชน์ร่วมกันในการวางโปรแกรมการเรียนการสอน เป็นการย้ำถึงแนวความคิดร่วมกันที่มีต่อทักษะและทัศนคติที่ได้จากการเรียนรู้ ตัวอย่างในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น วิชาของสาธารณสุขเด็กชุมชนอาจจัดร่วมกับวิชาที่จัดสอนโดยภาควิชาสาธารณะสุขเด็กและภาควิชาการฝึกปฏิบัติทั่วไป
            7. การเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน (Correlation) ขั้นตอนนี้ยังคงเน้นความเป็นศาสตร์ของวิชาเดิมอยู่ การมีโอกาสสอนร่วมกันขยายผลเป็นการสอนในรายวิชาเดียวกันร่วมกัน การดำเนินการในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความสนใจในรายวิชาอื่นๆ ตามมา
            8. การสอนเสริมให้สมบูรณ์ (Complementary) การสอนเสริมให้สมบูรณ์เป็นขั้นตอนที่ผสมผสานระหว่างสาระในรายวิชาและการบูรณาการการสอนร่วมกัน การมีส่วนร่วมในการบูรณาการเป็นลักษณะที่สำคัญของหลักสูตร เป็นการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และประเมินค่าร่วมกันในตัวหลักสูตรการเรียนการสอน
            9. การจัดแบบคาบสาขาวิชา (Multi-disciplinary) ขั้นตอนนี้ ได้แก่การนำสาระของศาสตร์มาจัดการเรียนการสอนร่วมกันอย่างหลากหลายภายใต้การจัดหลักสูตรที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งเรื่องของแนวคิด ปัญหาของสาระ หัวข้อสาระที่ศึกษา ซึ่งมีวิธีจัดการได้หลายรูปแบบขั้นตอนการบูรณาการขั้นนี้เกี่ยวข้องกับชื่อวิชาและสาระของวิชาที่จัดให้ศึกษา ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แต่สาระที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความเป็นเอกลักษณ์ของตัวผู้เรียนว่าสามารถเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ได้อย่างไร
            10. การจัดแบบสหสาขาวิชา (Inter- disciplinary) ขั้นตอนการบูรณาการขั้นนี้ ได้แก่การจัดโปรแกรมการเรียนการสอนเพื่อเชื่อมโยงสาระของวิชาสองสาขาขึ้นไปไว้ด้วยกัน
            11. การจัดข้ามสาขาวิชา (Trans- disciplinary) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการบูรณาการหลักสูตร เป็นการจัดกลุ่มทฤษฎีที่มีความหมายเหมือนกันในแกนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมาก่อน หรือ จัดกลุ่มศาสตร์สัมพันธ์กันแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น การเรียนข้ามสาขาวิชาเป็นกระบวนการของแต่ละบุคคลที่เกิดรับรู้สารสนเทศและประสบการณ์และสามารถกลั่นกรองได้จากมโนทัศน์ ความคิดและความรู้สึกของผู้เรียนโดยตรง
ดังนั้น รูปแบบการบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ การบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์เข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนนับเป็นการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาวิธีการเรียนรู้ และพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และความต้องการของสังคม ซึ่งการบูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion integration) เป็นวิธีการบูรณาการที่ตรงเป้าประสงค์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มากที่สุด และสอดคล้องกับแนวคิดของพระธรรมปิฎก (2540: 34 36) ที่กล่าว่า การจัดการเรียนการสอนที่มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นสิ่งผู้สอนควรต้องจัดการเรียนการสอน เพราะการจัดการศึกษาที่ดีควรมุ่งให้คนเป็นคนดี มีความรู้ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
สรุป
การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  เป็นการสอนแบบบูรณาการมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในส่วนของสาระวิชา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการพัฒนาทางเจตคติต่อสิ่งที่เรียนรู้ ผุ้สอนต้องพัฒนาไปอย่างควบคู่กัน โดยไม่แยกส่วนทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยซึ่งจะทำให้สอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิตจริง เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง รวมทั้งเป็นการรวมศาสตร์ และการประยุกต์ศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและผู้สอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น