วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณธรรมที่พึงประสงค์ของครูไทยตามหลักมรรคมีองค์ 8

คำว่าครูนั้น  เป็นคำที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก  เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายให้กับศิษย์ได้ทุกอย่าง  แต่ต้องเป็นบุคคลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง  อยู่ในกรอบศีลธรรมอย่างเคร่งครัด  ดังผู้เขียนเคยเข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาที่สังกัดอยู่  มีอาจารย์วิทยาท่านหนึ่งให้แง่คิดของคนเป็นครูอาจารย์ไว้อย่างน่าคิดว่า  ครู  อาจารย์  เป็นบุคคลที่สวรรค์ส่งมาเกิดให้มุ่งมาทำความดีเพียงอย่างเดียว  อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึงเลยท่านว่าอย่างนี้         ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ควรประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของคุณงามความดีที่ควรปฏิบัติเป็นแบบอย่างของลูกศิษย์  โดยคุณธรรมที่พึงประสงค์หรือพึงปฏิบัติของครูไทยนั้น อาจยึดปฏิบัติตามหลักธรรมที่สำคัญของศาสนาที่ตนนับถือก็ได้ อย่างไรก็ดีสำหรับคุณธรรมของครูไทยตามแนวทางพุทธศาสนานั้น ครูแต่ละคนควรศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนเรื่องทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งแปลว่า ทางสายกลางแห่งข้อปฏิบัติฝึกฝนใจในทางที่ชอบ
คำว่าทางสายกลางนั้น หมายถึง ทางดำเนินทางใจหรือข้อปฏิบัติบำเพ็ญทางใจที่ทำให้พ้นจากกิเลสอันเป็นข้าศึกทางสายกลางดังกล่าวคือ อริยมรรคอันมีองค์ 8 นั่นเอง คุณธรรมข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมชั้นสูงในศาสนาพุทธอัน ได้แก่
                1. สัมมาทิฏฐิ
การเห็นชอบ หมายถึง การเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา เห็นถูก เห็นผิดตลอดจนการเห็นในฝ่ายดีทั้งหลายที่เรียกว่า การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ 2539:30) กล่าวว่า สัมมาทิฏฐิเป็นรุ่งอรุณแห่งทางพ้นทุกข์หรืออาจพูดว่า การเห็นชอบเป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์ ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิ และถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครูที่มีความเป็นครู กล่าวคือ ผู้นั้นจะเป็นครูที่เข้าใจอาชีพครูอย่างถูกต้อง เห็นอุดมการณ์ของความเป็นครู ทำให้เลือกปฏิบัติได้ถูกต้องว่าจะเป็นคนรับจ้างสอนหนังสือ หรือเป็นครูจริยบุคคลนั้นเอง
                2. สัมมาสังกัปปะ
การดำริชอบ หมายถึง การคิดอย่างฉลาด รอบคอบ รู้จักไตร่ตรอง เป็นผู้มีวิธีคิด รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม คิดในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อศิษย์ และต่อสังคม ครูผู้มีความคิดไม่เบียดเบียน ไม่มุ่งร้าย ไม่อาฆาตแค้น ย่อมเป็นครูที่มีความสมบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ครู
                3. สัมมาวาจา
การพูดจาชอบ หมายถึง การไม่พูดจาส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบ และไม่พูดปดพูดเท็จ ครูต้องใช้คำพูดกับศิษย์อยู่ตลอดเวลาทั้งในห้องเรียนและนอกเวลาเรียน การพูดและวิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้ ความรู้สึก และจิตใจของศิษย์เสมอ ครูพูดด้วยความจริงใจ อ่อนโยน ไพเราะ ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ


                4. สัมมากัมมันตะ
การทำการงานชอบ หมายถึง การกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจและตั้งใจอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลายการกระทำการใด ๆ ด้วยความมุ่งมั่น อดทน ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ และรอบคอบ ครูผู้มีธรรมข้อนี้ย่อมเป็นครูผู้กล่าวเผชิญกับกิจการการงานทั้งปวง
                5. สัมมาอาชีวะ
การเลี้ยงชีวิตชอบ หมายถึง การทำอาชีพสุจริตและไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย ธรรมข้อนี้สำหรับครูนั้นหมายรวมถึงความพยายามเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวโดยวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เบียดเบียนเวลาในการสอนหรือเวลาตามหน้าที่ครูตลอดจนการใช้เวลาว่างเพื่อเลี้ยงดูตนเองโดยแบ่งเป็นเวลาสำหรับการศึกษาค้นคว้าความรู้เพื่อใช้สอนศิษย์ การใช้เวลาว่างเพื่อพักผ่อนและสุขภาพ
                6. สัมมาวายามะ
การเพียรชอบ หมายถึง การมุ่งมั่นพยายามในทางฝ่ายดีทั้งหลายครูผู้มีความเพียร คือครูผู้พยายามศึกษาความรู้อยู่เสมอ มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติหน้าที่การงาน
                7. สัมมาสติ
การระลึกชอบ หมายถึง การพิจารณาไตร่ตรองสภาพสิ่งแวดล้อมในทางที่ถูก การไตร่ตรองว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เพื่ออะไร และโดยวิธีใด ย่อมทำให้จิตใจผู้ไตร่ตรองสงบและเป็นสุข ทั้งสติปัญญาก็จะยิ่งเฉียบแหลมรอบคอบในการผจญปัญหาใด ๆ ครูผู้ระลึกชอบย่อมเป็นครูผู้มีสติ ไม่เสียสติและอยู่ในทำนองคลองธรรมและไม่ออกนอกลู่นอกทาง
                8. สัมมาสมาธิ
ความตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง การตั้งอยู่ในความสงบไม่วอกแวกโลเล ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายมาหลอกล่อให้หลงผิด ครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นครูผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู เพราะจะเป็นครูที่ไม่มีจิตใจฝักใฝ่ในทางอื่นที่มิใช่ทางแห่งวิชาชีพของตนไม่พยายามหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นๆ ไม่คิด ไม่เห็นไม่นอกลู่นอกทางของความเป็นครู
                ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า  ครูผู้ยึดมั่นในอริยมรรคอันมีองค์ 8 นั้น ย่อมเป็นครูผู้มีคุณธรรมที่เปี่ยมล้นด้วยจริยธรรมอันดีงาม เพราะครูผู้นั้นเป็นครูที่ไม่ประมาทในสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตไม่ตึงจนเกินไป และไม่หย่อนยานเหลวไหลจนเกินไป ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงานที่ตนต้องรับผิดชอบ ตลอดจนเรื่องของการดำเนินชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยกิเลสที่คอยยั่วยุให้หลงผิดอยู่ตลอดเวลา ครู อาจารย์คนนั้นจะเป็นบุคคลที่มีความสุขตลอดเวลาเปี่ยมล้นด้วยการเป็นผู้ให้ตลอดเวลา

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อมนุษย์เข้าสู่กระแสธรรมมากขึ้น บทเพลงแห่งชีวิตอันหลากหลายก็จะดังมากขึ้น และเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นบทเพลงที่บรรเลงเพื่อฉลองชัยชนะของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สามารถหลุดพ้นจากอวิชชา คือ  ความหลงในตัวตน ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั่วกันทั้งโลก เป็นโลกเดียวกันที่เจริญ หรือโลกาภิวัฒน์  ศรีอาริยะ  สหัสวรรษใหม่เป็นยุคที่ธรรมชาติอาจจะตัดสินใจว่า สัตว์ที่เรียกว่า “มนุษย์” ควรจะสูญพันธุ์ หรือไม่ก็มีวิวัฒนาการสูงยิ่งขึ้น
ปัญหาวิกฤตทั้งหลายที่อ่านพบในหนังสือ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ ดูในโทรทัศน์ หรือสัมผัสด้วยชีวิต กาย ใจโดยตรงนั้นมีมากมายและกำลังท้าทายมนุษย์ว่า จะสามารถต้อนรับ เผชิญหน้า และแก้ไขวิกฤตเหล่านั้นได้หรือไม่ เมื่อวิเคราะห์ให้ดี ไม่ว่าโดยอาศัยแนวพุทธศาสนาหรือแนววิทยาศาสตร์จะพบว่าปัญหาวิกฤตทั้งหลายส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาโดยฝีมือมนุษย์เอง การท้าทายจึงสรุปได้ว่า มนุษย์พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อวิกฤตทั้งหลายที่พวกเรามีส่วนช่วยกันสร้างขึ้นมาหรือไม่ หากไม่ก็สมควรสูญพันธุ์ไป หากรับผิดชอบเป็น ก็มีสิทธิที่จะอยู่ต่อ และเข้าถึงความเป็นมนุษย์ในขั้นที่สูงขึ้นไป
ยุคสมัยนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ สำหรับส่วนที่เป็นปัญหานั้น  ได้มีการพูดถึงในสื่อต่างๆ มากอยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพยากร และศักยภาพในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
๑. แนวความคิดและการพัฒนาสังคมที่ยึดถือเหตุผลเป็นหลัก  ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนมีการยอมรับกันว่า ลำพังเหตุผลอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้ เหตุผล หรือที่บางคนสรุปว่า "สมอง" ต้องเชื่อมกับความรู้สึก หัวใจ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ต้องเชื่อมโยงกับศาสนา นี้เป็นจุดเชื่อมที่กระแสการพัฒนาอันสำคัญของมนุษย์ทั้ง ๒ สาย  คือ  วิทยาศาสตร์กับศาสนาจะกลับมาเป็นภาคีกันอีกครั้ง เพราะว่าในสังคมตะวันตก วิทยาศาสตร์กับศาสนาได้แยกจากกันเป็นเวลาห้าร้อยกว่าปี เมื่อพิจารณาตรงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนามีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน เนื่องจากเป็นศาสนาที่มีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาอื่น ๆ
๒. ขบวนการสตรีนิยมได้ชี้แจงให้มนุษย์เริ่มเข้าใจว่า การใช้อำนาจอย่างที่เคยเป็นมาดัง  เช่น  อำนาจรัฐ (ทหาร) อำนาจทุน และอำนาจเทคโนโลยี เป็นการใช้อำนาจที่ทำลาย ไม่สร้างสรรค์ คนโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรวบรวมอำนาจแล้วใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัว ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น หรือแม้แต่สัตว์พืชและธรรมชาติชนิดอื่นๆ ที่มิใช่มนุษย์ วิธีคิดแบบ "อำนาจเป็นใหญ่ในโลก" เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่า กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิที่จะหาประโยชน์จากกลุ่มอื่นๆ โดยสถานเดียว แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้ทำลายทั้งธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้น ขบวนการสตรีนิยมจึงเสนอว่าควรจะมีอำนาจหรือการใช้อำนาจอีกแบบหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือผู้อื่น หรือฝ่ายอื่น ในขณะที่การใช้อำนาจแบบแรก ตั้งอยู่บนฐานของความเห็นแก่ตัว อำนาจแบบที่สองกลับอาศัยความรัก (กรุณา) หรือความเป็นเพื่อน (เมตตา) เป็นหลัก ขณะนี้ มนุษยชาติได้ก้าวหน้ามาถึงขั้นที่พอจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ และเริ่มปรับเปลี่ยนมาสนใจอำนาจในแบบที่สองซึ่งมีแบบอย่างที่ดีที่สุดก็คือแม่ แม่ที่เสียสละเพื่อลูก ซึ่งอาจหมายรวมถึงพระแม่ธรณีที่ให้กำเนิดสรรพชีวิต และรวมทั้งมนุษย์ด้วย
๓. ในยุคปัจจุบันได้เกิดแนวโน้มทางสังคมการเมืองที่สำคัญกระแสหนึ่ง คือกระแสประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตถูกเบี่ยงเบนโดยอำนาจแบบแรก และถึงแม้ว่าในประเทศต่างๆ จะยังคงมีคนบางกลุ่มที่อาศัยระบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แต่กระแสประชาธิปไตยก็ได้เริ่มขยายตัวก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้แต่ในประเทศไทยซึ่งเดิมอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยม แต่ในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น เมื่อผนวกกับกระแสสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสังคมโลกแล้ว นับเป็นพลังอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้มนุษยชาติได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์ที่เหมาะสม ยั่งยืน และพอเพียง ต้องอาศัย สติ การรู้สึกตัว ปัญญา การเข้าใจในเนื้อแท้ของชีวิต กรุณา การรักที่ยอมช่วยผู้อื่น และศีลธรรม การดำรงชีวิตที่เป็นปกติ คือ ไม่เบียดเบียนใคร
การสร้างสรรค์อย่างถูกต้องแท้จริงย่อมจะเป็นการแก้ปัญหาอยู่ในตัวเอง วิธีคิดแบบเดิม มักมุ่งไปที่ตัวปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขปัญหานั้น แต่ผลที่ได้มากลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหานั้นต้องแก้ที่สาเหตุ ถ้าเราพบว่าปัญหามีสาเหตุอยู่ที่ใด เราเอาของที่ถูกต้อง  เป็นธรรมชาติกว่า  ดีกว่านำไปแทนที่สาเหตุเหล่านั้น ปัญหาจะเปลี่ยนไปอยู่ในตัว หากไม่สามารถแก้ไขได้โดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาปัญหา

อุดมการณ์แห่งศตวรรษที่  ๒๑ 
การอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งโลก  มนุษย์ควรจะใช้สติปัญญาเป็นส่วนใหญ่เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของระบบการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน  รากเหง้าของปัญหา  และวิธีการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันในอนาคต
๑.   ปัญหาของการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน 
เป็นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย  และระหว่างประเทศจนกับประเทศรวย  การขาดความเป็นแผ่นของครอบครัว  และชุมชน  ความรุนแรงประเภทต่างๆ รวมทั้งสงคราม  การทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม  การละเมิดสิทธิของเด็ก  สตรี  คนกลุ่มน้อย  และผู้ด้อยโอกาส  การที่สถาบันทางการเมือง  สถาบันทางราชการ  และทางศาสนาไม่สามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหา  ความเครียด  ความหดหู่  ความรู้สึกหมดหวังในชีวิตและสังคม  ปัญหายาเสพติด  และการฆ่าตัวตาย  ล้วนสะท้อนปัญหาของการที่มนุษยชาติยังไม่สามารถสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ  ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
๒.  รากเหง้าของปัญหาการอยู่ร่วมกัน
สาเหตุของปัญหาที่ไม่สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติมี    ประการใหญ่ๆ  คือ
  สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์
   ลิทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง  และความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ
   เงินเข้าแทนที่จิตรวิญญาณในฐานะคุณค่าสูงสุด

สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์ 
ขณะที่มีการพูดถึงโลกาภิวัฒน์หรือความเป็นโลกเดียวกัน  นั้นเป็นเพียงทางกายภาพเท่านั้น  มนุษย์ยังคิดแบ่งแยกโดยเอาตน  พวกตน  เผ่าตน  หรือประเทศตนเป็นที่ตั้ง  แล้วเข้าแย่งชิง  ปะทะ  และขัดแย้งกัน  สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์นั้นมีมาแต่โบราณ  และยังคงอยู่ในรูปต่างๆ  มนุษย์ที่เจริญควรเห็นความสำคัญของเผ่าอื่นๆ และจัดระบบการอยู่ร่วมกันได้

ลิทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง  และความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ 
มนุษย์มีทั้งความเป็นตัวของตัวเองและความเป็นส่วนรวมในขณะเดียวกันอนุภาคที่มีทั้งความเป็นอนุภาคและความเป็นคลื่นในขณะเดียวกัน  ความเป็นอนุภาคคือมีตัวตน  จับต้องชั่งตวงได้  ความเป็นคลื่นคือไม่เป็นรูป  จับต้องไม่ได้แต่ไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งอื่นได้  สภาพของสรรพสิ่งเป็นทวิลักษณ์  คือมีทั้งลักษณะที่เป็นตัวตน  และมีลักษณะที่เชื่อมโยงสัมพันธ์  มนุษย์ก็ควรเป็นเช่นนั้น  คือ  มีทั้งความเป็นตัวของตัวเองและความเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นส่วนรวม  ลัทธิปัจเจกนิยมสุดโต่งและความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ  ทำให้เกิดความแตกสลายทางสังคม  และในส่วนเสรีภาพที่แท้จริงควรเป็นปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง  หลุดพ้นจากความเป็นจริง  หลุดพ้นจากการบีบคั้นของความไม่รู้หรืออวิชา  มีความสุขและมีมิตรภาพต่อสรรสิ่ง  สามารถดำรงอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

การที่เงินเข้าแทนที่จิตรวิญญาณในฐานะคุณค่าสูงสุด 
สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดของมนุษย์คือ  ความดีหรือที่เรียกว่าพัฒนาการทางจิตวิญญาณ  ความเป็นมนุษย์อยู่ที่พัฒนาการทางจิตวิญญาณ  พัฒนาการทางจิตวิญญาณให้พลังแก่มนุษย์  แก่องค์กร  และแก่สังคม  เงินมีประโยชน์ในการแลกเปลี่ยน  แต่ในเมื่อความโลภได้ถูกยกระดับจากกิเลิสมาเป็นคุณค่าในอารยะธรรมสมัยใหม่  เงินก็ถูกทำให้เป็นเครื่องมือของความโลภ  เงินเป็นสิ่งที่สมมติที่ถูกสะสมได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด  และสถาปนาระบบเงินเป็นอำนาจสูงสุด(ธนาธิปไตย) ที่จะกระทำเพื่อเงิน  โดยเงินและของเงินระบบเงินเติบโตขึ้น  เปลี่ยนสถานะจากการเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนไปเป็นอำนาจอำนาจที่จะทำลายสิ่งอื่นๆเพื่อการเติบโตของตัวเอง  เงินจำนงนมหึมาที่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกกว่าร้อยละ ๙๐ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างเศรษฐกิจ  แต่เพื่อการเก็งกำไรหรือเพื่อการพนันหรือการดูดเงินจากที่ต่างๆ
ในส่วนของครอบครัวถ้าใช้หลักการแข่งขันเสรี  เด็กจะตายหมด  ครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่สำคัญที่สุด  ไม่ได้ใช้หลักการแข่งขันเสรีแต่ใช้หลักการโอบอุ้มและเกื้อกูลกัน  มนุษย์ทั้งโลก  คือ ครอบครัวเดียวกัน  การแข่งขันเสรีไม่ใช่หลักการของการอยู่ร่วมกัน  แต่ความโอบอุ้มและความเกื้อกูลต่างหากที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยสันติ
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า
ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของการเรียนรู้ในปัจจุบัน  คือ  ไม่เรียนรู้ให้รู้ตัวเอง  เรียนแต่สิ่งภายนอกมากมาย  ซึ่งแม้เรียนให้เก่งเท่าไร  แต่ถ้าไม่รู้ตัวเอง  แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้   หรือกลับยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น  มนุษย์วิกฤตเพราะเหตุนี้  การเรียนรู้ให้รู้ตัวเองไม่ได้แปลว่า  สิ่งนอกตัวไม่สำคัญ  สังคมที่มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในรูปต่างๆเต็มสังคมและมีสันติ เรียกว่า สังคมสันติประชาธรรม  หรือประชาสังคม  พลังแห่งการร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม  จะผนึกสังคมไว้ด้วยกันมิให้แตกสลาย  เกิดดุลยภาพ  มีความพอเพียง  มีความยั่งยืน  อันเป็นไปเพื่อความสุขของทุกคน  ถ้าทุกคนอยากมีโลกที่เต็มไปด้วยความรัก  มีครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัยเราก็ต้องสละความเห็นแก่ตัว  แล้วจะพบกับความสุขที่วัดประมาณไม่ได้  เมื่อหมดสิ้นความเห็นแก่ตัวแล้ว  จะเหลือแต่จิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์  ด้วยความรัก  ความกรุณา  เอื้อเฟื้อต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย  เฉลียวฉลาดกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า  มีความสุขภายใน  ปราศจากความตรึงเครียด  สุขภาพที่ดีก็ตามมา  และเป็นชีวิตที่เรียกว่าเบิกบาน  แม้ว่าเราจะยังทำให้ถึงที่สุดไม่ได้  แต่หากพวกเราอุตสาหพยายามทำเท่าที่จะทำได้  โลกมนุษย์ก็สามารถขยับตัว  และโอกาสที่จะไม่สูญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้น

อ้างอิง
ประเวศ  วะสี. วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ : สู่ภพภูมิใหม่แห่งการพัฒนา. กรุงเทพฯ :
มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์,  ๒๕๔๕.

วิถีชีวิตประชาธิปไตย

วิถีชีวิตประชาธิปไตย เป็นแนวทางการดำรงชีวิตประจำวันและการดำรงตนในสังคมของประชาชนในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย  โดยแนวทางการดำรงชีวิตประจำวันนั้นเป็นการที่ประชาชนนำเอาหลักการ และความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยมาประพฤติปฏิบัติตน ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน ในชุมชน ตลอดจนการประกอบอาชีพ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาความเจริญของชุมชน และการดำรงตนในสังคมของประชาชน จะต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนประพฤติตนสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนดและเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ตลอดจนมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการปกครองในระบอบนี้อย่างแท้จริง พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนร่วมมือเท่าที่จะสามารถกระทำได้  ดังนั้นการดำเนินวิถีชีวิตประชาธิปไตยจะต้องยึดถือหลักการ คือ
การรู้จักใช้เหตุผล การตัดสินใจจะทำอะไรนั้น ต้องยึดหลักเหตุผลมากกว่าที่จะใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ส่วนตัว จึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เกิดความเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้า  โดยผู้ที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีเหตุผลนั้นจะประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
๑. มีความคิดกว้างไกล รับฟังข่าวสารและความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจความต้องการจำเป็นของผู้อื่น
๒. มีใจอดทน ไม่นำอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวมาใช้ตัดสินปัญหา
๓. ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา เป็นการมองปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบใคร่ครวญถึงสาเหตุของปัญหา และพิจารณาหาทางแก้ไขอย่างมีสติ ไม่ใช่อารมณ์ หรือความเชื่องมงายหรือเชื่อฟังคำยุยงของผู้อื่นโดยปราศจากการไตร่ตรอง
การใช้หลักความสมัครใจ  ระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่อาศัยความสมัครใจร่วมกันของคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะใช้การบังคับ ในการดำเนินชีวิตประจำวันก็เช่นกันการที่จะให้ใครปฏิบัติอย่างไรนั้น ควรชี้ถึงเหตุผลความจำเป็นให้เข้าใจและสมัครใจที่จะทำมากกว่าที่จะบังคับ ซึ่งการยึดหลักความสมัครใจจะมีประโยชน์ ดังนี้
๑. เป็นการยอมรับในความมีเหตุผลและมีสิทธิที่จะเลือกกระทำหรือไม่ทำอะไร
๒. ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติ การสนับสนุนต่างๆ อย่างเต็มใจและได้ผลที่ดีกว่าการบังคับ
๓. ขจัดข้อขัดแย้ง การต่อต้านต่างๆ ให้หมดไปได้
การมีน้ำใจนักกีฬา เป็นการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตประชาธิปไตย เนื่องจากตามหลักประชาธิปไตยนั้น การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จะต้องกระทำตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็หมายความว่า ในเรื่องที่มีผู้ที่มีความเห็นแตกต่างกันแล้วย่อมมีฝ่ายหนึ่งที่สมหวังและอีกฝ่ายหนึ่งที่ผิดหวัง ฝ่ายที่สมหวังหรือฝ่ายข้างมากนั้นก็ต้องไม่เยาะเย้ยถากถางอีกฝ่ายหนึ่ง แต่จะต้องให้ความเห็นใจ และพร้อมที่จะรับฟังปัญหาของอีกฝ่ายเพื่อหาทางช่วยเหลือแก้ไขในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่สมหวัง ก็ต้องยอมรับในความเห็นของคนส่วนใหญ่และพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนร่วมมือนอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมองข้อขัดแย้งต่าง ที่อาจจะมีขึ้น ว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ผูกใจเจ็บหรือเก็บมาเป็นอารมณ์ครุ่นคิดว่าเป็นเรื่องที่เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี
การปฏิบัติตามกฎหมาย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เป็นกฎหมายที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ เพราะหากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับกฎหมายใด ก็สามารถที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น โดยอาศัยกลไกทางการเมืองการปกครองต่าง ๆได้ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงออกโดย
๑. การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคกัน
๒. ให้ความสำคัญต่อทุกคน ในการที่จะรับฟังความเห็นความต้องการของเขา
๓. ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก มีความเป็นกลางในการตัดสินปัญหาต่างๆ โดยไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาใช้ในการพิจารณาปัญหาของส่วนรวม

การดำรงตนในสังคมประชาธิปไตย
การดำรงตนในสังคมประชาธิปไตยเป็นการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และการที่จะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมั่นคง และเกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวมนั้นประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในระดับต่าง อย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับชุมชน / หมู่บ้าน / ตำบล ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งจะสามารถมีส่วนร่วมได้ในลักษณะต่างๆ ดังนี้
๑. การใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนในระดับต่างๆ
๒. การลงสมัครรับเลือกตั้งและเข้าร่วมดำรงตำแหน่งทางการเมืองการปกครองในระดับต่างๆ
. การแสดงความเห็นสนับสนุน คัดค้าน หรือเสนอแนะต่างๆ อย่างมีเหตุผลและมีใจเป็นธรรม
๔. การให้ความร่วมมือในกิจกรรมของส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยส่วนรวม  โดยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือ 
ยอมรับในเสียงข้างมาก และเคารพในเสียงข้างน้อย
เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่าทุกคนมีอำนาจในการปกครองโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น การตัดสินใจปัญหาต่าง จึงต้องทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือตามเสียงข้างมาก ซึ่งฝ่ายข้างน้อยต้องให้การยอมรับและปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจแต่ในขณะเดียวกันฝ่ายข้างมากก็ต้องยอมรับฟังเหตุผล ความจำเป็นของฝ่ายข้างน้อยและไม่ละเลยประโยชน์หรือความจำเป็นของฝ่ายข้างน้อยที่ควรจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งในบางครั้งฝ่ายข้างมากอาจต้องยอมสละประโยชน์ของตนหากเห็นว่าความต้องการของฝ่ายข้างน้อยเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
การเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมของชุมชน สังคม ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่มุ่งมั่นเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัวโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ เช่น ไม่สร้างความร่ำรวยด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง
การมีวินัย
วินัยเป็นสิ่งสำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือหลักการปกครองตนเอง เพราะหากคนในชาติไม่มีวินัยแล้ว ก็แสดงว่าไม่สามารถควบคุมบังคับตนเองให้อยู่ในกรอบกติกาที่ตนและผู้อื่นร่วมกันกำหนดขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองตนเองได้เช่นกันซึ่งการมีวินัยนั้น จะต้องถือปฏิบัติ ดังนี้
๑. ไม่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคม
๒. ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน
๓. ปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม
๔. ปฏิบัติตามประเพณีอันดีงามของสังคม
มีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็น และพฤติกรรมที่แตกต่าง
เนื่องจากในสังคมประชาธิปไตยได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในสังคมทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะมีความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีความอดกลั้นต่อความคิดเห็นและพฤติกรรมที่แตกต่างจากตน ดังคำขวัญที่ว่า แตกต่างได้ แต่ไม่แตกแยกโดยจะต้องเคารพในความคิดของผู้อื่น ตราบใดที่ความคิดและพฤติกรรมนั้นไม่ละเมิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง

การดำรงตนในชีวิตประจำวัน
การดำรงตนในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตประชาธิปไตยนั้น ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
การส่งเสริมประชาธิปไตยในครอบครัว
๑. สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่ปรองดองกัน
๒. เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้ที่ประสบการณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัว
๓. พ่อแม่ยอมรับฟังความเห็น ความต้องการของลูก
๔. ตัดสินปัญหาต่างๆ โดยใช้เหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์
๕. ปรึกษาหารือกันในเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้นั้น
๖. พ่อแม่ลูกรู้จักหน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ เต็มใจ

การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน
๑. สอนให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม
๒. กระตุ้นและเปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ
๓. ฝึกหัดให้นักเรียนยอมรับฟังความเห็นและเหตุผลของผู้อื่น
๔. พยายามโน้มน้าวใจให้นักเรียนเข้าใจถึงเหตุผลในกฎระเบียบต่าง ๆมากกว่าที่จะใช้อำนาจบังคับแต่เพียงอย่างเดียว
๕. พยายามจัดกิจกรรมต่าง ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก และมีความรับผิดชอบในการทำงานเป็นกลุ่ม
๖. ฝึกหัดให้นักเรียนยอมรับในข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มและปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

การส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน
.  ร่วมในการประชุมหรือกิจกรรมของชุมชนอย่างเต็มใจ
.  รับฟังความคิดเห็นของทุกคน และไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแม้จะมีความเห็นขัดแย้งกัน
. ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
.  มีการปรึกษาหารือกันในขณะทำงาน
.  ร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่าง มากกว่าที่จะคอยซ้ำเติม
.  เคารพกฎระเบียบของชุมชนและกฎหมาย
.  ติดตามข่าวสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
.  ตัดสินปัญหาโดยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ควรรีบร้อนให้มีการลงมติ

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า
                วิถีชีวิตประชาธิปไตยเป็นยึดหลักการใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึกส่วนตัวหรืออารมณ์และการดำรงตนในสังคมประชาธิปไตยนั้นต้องมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในระดับต่าง อย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน  ตำบล ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ เราต้องยอมรับในเสียงข้างมากและเคารพในเสียงข้างน้อยเพราะการตัดสินใจนั้นเราต้องฟังความคิดเห็นข้างมาก และเราต้องเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นวิถีชีวิตประชาธิปไตยเราต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  การดำรงตนในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตประชาธิปไตย เราต้องส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตยโดยมีองค์ประกอบต่างๆคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยในครอบครัว การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน การส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน

อ้างอิง
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๕๓.