เมื่อมนุษย์เข้าสู่กระแสธรรมมากขึ้น บทเพลงแห่งชีวิตอันหลากหลายก็จะดังมากขึ้น และเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นบทเพลงที่บรรเลงเพื่อฉลองชัยชนะของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สามารถหลุดพ้นจากอวิชชา คือ ความหลงในตัวตน ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั่วกันทั้งโลก เป็นโลกเดียวกันที่เจริญ หรือโลกาภิวัฒน์ ศรีอาริยะ สหัสวรรษใหม่เป็นยุคที่ธรรมชาติอาจจะตัดสินใจว่า สัตว์ที่เรียกว่า “มนุษย์” ควรจะสูญพันธุ์ หรือไม่ก็มีวิวัฒนาการสูงยิ่งขึ้น
ปัญหาวิกฤตทั้งหลายที่อ่านพบในหนังสือ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ ดูในโทรทัศน์ หรือสัมผัสด้วยชีวิต กาย ใจโดยตรงนั้นมีมากมายและกำลังท้าทายมนุษย์ว่า จะสามารถต้อนรับ เผชิญหน้า และแก้ไขวิกฤตเหล่านั้นได้หรือไม่ เมื่อวิเคราะห์ให้ดี ไม่ว่าโดยอาศัยแนวพุทธศาสนาหรือแนววิทยาศาสตร์จะพบว่าปัญหาวิกฤตทั้งหลายส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาโดยฝีมือมนุษย์เอง การท้าทายจึงสรุปได้ว่า มนุษย์พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อวิกฤตทั้งหลายที่พวกเรามีส่วนช่วยกันสร้างขึ้นมาหรือไม่ หากไม่ก็สมควรสูญพันธุ์ไป หากรับผิดชอบเป็น ก็มีสิทธิที่จะอยู่ต่อ และเข้าถึงความเป็นมนุษย์ในขั้นที่สูงขึ้นไป
ยุคสมัยนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ สำหรับส่วนที่เป็นปัญหานั้น ได้มีการพูดถึงในสื่อต่างๆ มากอยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพยากร และศักยภาพในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
๑. แนวความคิดและการพัฒนาสังคมที่ยึดถือเหตุผลเป็นหลัก ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนมีการยอมรับกันว่า ลำพังเหตุผลอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้ เหตุผล หรือที่บางคนสรุปว่า "สมอง" ต้องเชื่อมกับความรู้สึก หัวใจ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ต้องเชื่อมโยงกับศาสนา นี้เป็นจุดเชื่อมที่กระแสการพัฒนาอันสำคัญของมนุษย์ทั้ง ๒ สาย คือ วิทยาศาสตร์กับศาสนาจะกลับมาเป็นภาคีกันอีกครั้ง เพราะว่าในสังคมตะวันตก วิทยาศาสตร์กับศาสนาได้แยกจากกันเป็นเวลาห้าร้อยกว่าปี เมื่อพิจารณาตรงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนามีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน เนื่องจากเป็นศาสนาที่มีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาอื่น ๆ
๒. ขบวนการสตรีนิยมได้ชี้แจงให้มนุษย์เริ่มเข้าใจว่า การใช้อำนาจอย่างที่เคยเป็นมาดัง เช่น อำนาจรัฐ (ทหาร) อำนาจทุน และอำนาจเทคโนโลยี เป็นการใช้อำนาจที่ทำลาย ไม่สร้างสรรค์ คนโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรวบรวมอำนาจแล้วใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัว ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น หรือแม้แต่สัตว์พืชและธรรมชาติชนิดอื่นๆ ที่มิใช่มนุษย์ วิธีคิดแบบ "อำนาจเป็นใหญ่ในโลก" เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่า กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิที่จะหาประโยชน์จากกลุ่มอื่นๆ โดยสถานเดียว แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้ทำลายทั้งธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้น ขบวนการสตรีนิยมจึงเสนอว่าควรจะมีอำนาจหรือการใช้อำนาจอีกแบบหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือผู้อื่น หรือฝ่ายอื่น ในขณะที่การใช้อำนาจแบบแรก ตั้งอยู่บนฐานของความเห็นแก่ตัว อำนาจแบบที่สองกลับอาศัยความรัก (กรุณา) หรือความเป็นเพื่อน (เมตตา) เป็นหลัก ขณะนี้ มนุษยชาติได้ก้าวหน้ามาถึงขั้นที่พอจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ และเริ่มปรับเปลี่ยนมาสนใจอำนาจในแบบที่สองซึ่งมีแบบอย่างที่ดีที่สุดก็คือแม่ แม่ที่เสียสละเพื่อลูก ซึ่งอาจหมายรวมถึงพระแม่ธรณีที่ให้กำเนิดสรรพชีวิต และรวมทั้งมนุษย์ด้วย
๓. ในยุคปัจจุบันได้เกิดแนวโน้มทางสังคมการเมืองที่สำคัญกระแสหนึ่ง คือกระแสประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตถูกเบี่ยงเบนโดยอำนาจแบบแรก และถึงแม้ว่าในประเทศต่างๆ จะยังคงมีคนบางกลุ่มที่อาศัยระบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แต่กระแสประชาธิปไตยก็ได้เริ่มขยายตัวก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้แต่ในประเทศไทยซึ่งเดิมอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยม แต่ในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น เมื่อผนวกกับกระแสสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสังคมโลกแล้ว นับเป็นพลังอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้มนุษยชาติได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์ที่เหมาะสม ยั่งยืน และพอเพียง ต้องอาศัย สติ การรู้สึกตัว ปัญญา การเข้าใจในเนื้อแท้ของชีวิต กรุณา การรักที่ยอมช่วยผู้อื่น และศีลธรรม การดำรงชีวิตที่เป็นปกติ คือ ไม่เบียดเบียนใคร
การสร้างสรรค์อย่างถูกต้องแท้จริงย่อมจะเป็นการแก้ปัญหาอยู่ในตัวเอง วิธีคิดแบบเดิม มักมุ่งไปที่ตัวปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขปัญหานั้น แต่ผลที่ได้มากลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหานั้นต้องแก้ที่สาเหตุ ถ้าเราพบว่าปัญหามีสาเหตุอยู่ที่ใด เราเอาของที่ถูกต้อง เป็นธรรมชาติกว่า ดีกว่านำไปแทนที่สาเหตุเหล่านั้น ปัญหาจะเปลี่ยนไปอยู่ในตัว หากไม่สามารถแก้ไขได้โดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาปัญหา
อุดมการณ์แห่งศตวรรษที่ ๒๑
การอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งโลก มนุษย์ควรจะใช้สติปัญญาเป็นส่วนใหญ่เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของระบบการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน รากเหง้าของปัญหา และวิธีการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันในอนาคต
๑. ปัญหาของการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน
เป็นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างประเทศจนกับประเทศรวย การขาดความเป็นแผ่นของครอบครัว และชุมชน ความรุนแรงประเภทต่างๆ รวมทั้งสงคราม การทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การละเมิดสิทธิของเด็ก สตรี คนกลุ่มน้อย และผู้ด้อยโอกาส การที่สถาบันทางการเมือง สถาบันทางราชการ และทางศาสนาไม่สามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหา ความเครียด ความหดหู่ ความรู้สึกหมดหวังในชีวิตและสังคม ปัญหายาเสพติด และการฆ่าตัวตาย ล้วนสะท้อนปัญหาของการที่มนุษยชาติยังไม่สามารถสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
๒. รากเหง้าของปัญหาการอยู่ร่วมกัน
สาเหตุของปัญหาที่ไม่สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติมี ๓ ประการใหญ่ๆ คือ
• สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์
• ลิทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง และความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ
• เงินเข้าแทนที่จิตรวิญญาณในฐานะคุณค่าสูงสุด
สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์
ขณะที่มีการพูดถึงโลกาภิวัฒน์หรือความเป็นโลกเดียวกัน นั้นเป็นเพียงทางกายภาพเท่านั้น มนุษย์ยังคิดแบ่งแยกโดยเอาตน พวกตน เผ่าตน หรือประเทศตนเป็นที่ตั้ง แล้วเข้าแย่งชิง ปะทะ และขัดแย้งกัน สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์นั้นมีมาแต่โบราณ และยังคงอยู่ในรูปต่างๆ มนุษย์ที่เจริญควรเห็นความสำคัญของเผ่าอื่นๆ และจัดระบบการอยู่ร่วมกันได้
ลิทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง และความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ
มนุษย์มีทั้งความเป็นตัวของตัวเองและความเป็นส่วนรวมในขณะเดียวกันอนุภาคที่มีทั้งความเป็นอนุภาคและความเป็นคลื่นในขณะเดียวกัน ความเป็นอนุภาคคือมีตัวตน จับต้องชั่งตวงได้ ความเป็นคลื่นคือไม่เป็นรูป จับต้องไม่ได้แต่ไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งอื่นได้ สภาพของสรรพสิ่งเป็นทวิลักษณ์ คือมีทั้งลักษณะที่เป็นตัวตน และมีลักษณะที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ มนุษย์ก็ควรเป็นเช่นนั้น คือ มีทั้งความเป็นตัวของตัวเองและความเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นส่วนรวม ลัทธิปัจเจกนิยมสุดโต่งและความเชื่อเรื่องเสรีนิยมผิดๆ ทำให้เกิดความแตกสลายทางสังคม และในส่วนเสรีภาพที่แท้จริงควรเป็นปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง หลุดพ้นจากความเป็นจริง หลุดพ้นจากการบีบคั้นของความไม่รู้หรืออวิชา มีความสุขและมีมิตรภาพต่อสรรสิ่ง สามารถดำรงอยู่ร่วมกันด้วยสันติ
การที่เงินเข้าแทนที่จิตรวิญญาณในฐานะคุณค่าสูงสุด
สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดของมนุษย์คือ ความดีหรือที่เรียกว่าพัฒนาการทางจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์อยู่ที่พัฒนาการทางจิตวิญญาณ พัฒนาการทางจิตวิญญาณให้พลังแก่มนุษย์ แก่องค์กร และแก่สังคม เงินมีประโยชน์ในการแลกเปลี่ยน แต่ในเมื่อความโลภได้ถูกยกระดับจากกิเลิสมาเป็นคุณค่าในอารยะธรรมสมัยใหม่ เงินก็ถูกทำให้เป็นเครื่องมือของความโลภ เงินเป็นสิ่งที่สมมติที่ถูกสะสมได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด และสถาปนาระบบเงินเป็นอำนาจสูงสุด(ธนาธิปไตย) ที่จะกระทำเพื่อเงิน โดยเงินและของเงินระบบเงินเติบโตขึ้น เปลี่ยนสถานะจากการเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนไปเป็นอำนาจอำนาจที่จะทำลายสิ่งอื่นๆเพื่อการเติบโตของตัวเอง เงินจำนงนมหึมาที่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกกว่าร้อยละ ๙๐ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างเศรษฐกิจ แต่เพื่อการเก็งกำไรหรือเพื่อการพนันหรือการดูดเงินจากที่ต่างๆ
ในส่วนของครอบครัวถ้าใช้หลักการแข่งขันเสรี เด็กจะตายหมด ครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่สำคัญที่สุด ไม่ได้ใช้หลักการแข่งขันเสรีแต่ใช้หลักการโอบอุ้มและเกื้อกูลกัน มนุษย์ทั้งโลก คือ ครอบครัวเดียวกัน การแข่งขันเสรีไม่ใช่หลักการของการอยู่ร่วมกัน แต่ความโอบอุ้มและความเกื้อกูลต่างหากที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยสันติ
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า
ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของการเรียนรู้ในปัจจุบัน คือ ไม่เรียนรู้ให้รู้ตัวเอง เรียนแต่สิ่งภายนอกมากมาย ซึ่งแม้เรียนให้เก่งเท่าไร แต่ถ้าไม่รู้ตัวเอง แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ หรือกลับยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น มนุษย์วิกฤตเพราะเหตุนี้ การเรียนรู้ให้รู้ตัวเองไม่ได้แปลว่า สิ่งนอกตัวไม่สำคัญ สังคมที่มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในรูปต่างๆเต็มสังคมและมีสันติ เรียกว่า สังคมสันติประชาธรรม หรือประชาสังคม พลังแห่งการร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม จะผนึกสังคมไว้ด้วยกันมิให้แตกสลาย เกิดดุลยภาพ มีความพอเพียง มีความยั่งยืน อันเป็นไปเพื่อความสุขของทุกคน ถ้าทุกคนอยากมีโลกที่เต็มไปด้วยความรัก มีครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัยเราก็ต้องสละความเห็นแก่ตัว แล้วจะพบกับความสุขที่วัดประมาณไม่ได้ เมื่อหมดสิ้นความเห็นแก่ตัวแล้ว จะเหลือแต่จิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์ ด้วยความรัก ความกรุณา เอื้อเฟื้อต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย เฉลียวฉลาดกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีความสุขภายใน ปราศจากความตรึงเครียด สุขภาพที่ดีก็ตามมา และเป็นชีวิตที่เรียกว่าเบิกบาน แม้ว่าเราจะยังทำให้ถึงที่สุดไม่ได้ แต่หากพวกเราอุตสาหพยายามทำเท่าที่จะทำได้ โลกมนุษย์ก็สามารถขยับตัว และโอกาสที่จะไม่สูญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้น
อ้างอิง
ประเวศ วะสี. วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ : สู่ภพภูมิใหม่แห่งการพัฒนา. กรุงเทพฯ :
มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๕.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น