วิถีชีวิตประชาธิปไตย เป็นแนวทางการดำรงชีวิตประจำวันและการดำรงตนในสังคมของประชาชนในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย โดยแนวทางการดำรงชีวิตประจำวันนั้นเป็นการที่ประชาชนนำเอาหลักการ และความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยมาประพฤติปฏิบัติตน ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน ในชุมชน ตลอดจนการประกอบอาชีพ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาความเจริญของชุมชน และการดำรงตนในสังคมของประชาชน จะต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนประพฤติตนสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนดและเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ตลอดจนมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการปกครองในระบอบนี้อย่างแท้จริง พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนร่วมมือเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ดังนั้นการดำเนินวิถีชีวิตประชาธิปไตยจะต้องยึดถือหลักการ คือ
การรู้จักใช้เหตุผล การตัดสินใจจะทำอะไรนั้น ต้องยึดหลักเหตุผลมากกว่าที่จะใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ส่วนตัว จึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เกิดความเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้า โดยผู้ที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีเหตุผลนั้นจะประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
๑. มีความคิดกว้างไกล รับฟังข่าวสารและความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจความต้องการจำเป็นของผู้อื่น
๒. มีใจอดทน ไม่นำอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวมาใช้ตัดสินปัญหา
๓. ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา เป็นการมองปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบใคร่ครวญถึงสาเหตุของปัญหา และพิจารณาหาทางแก้ไขอย่างมีสติ ไม่ใช่อารมณ์ หรือความเชื่องมงายหรือเชื่อฟังคำยุยงของผู้อื่นโดยปราศจากการไตร่ตรอง
การใช้หลักความสมัครใจ ระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่อาศัยความสมัครใจร่วมกันของคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะใช้การบังคับ ในการดำเนินชีวิตประจำวันก็เช่นกันการที่จะให้ใครปฏิบัติอย่างไรนั้น ควรชี้ถึงเหตุผลความจำเป็นให้เข้าใจและสมัครใจที่จะทำมากกว่าที่จะบังคับ ซึ่งการยึดหลักความสมัครใจจะมีประโยชน์ ดังนี้
๑. เป็นการยอมรับในความมีเหตุผลและมีสิทธิที่จะเลือกกระทำหรือไม่ทำอะไร
๒. ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติ การสนับสนุนต่างๆ อย่างเต็มใจและได้ผลที่ดีกว่าการบังคับ
๓. ขจัดข้อขัดแย้ง การต่อต้านต่างๆ ให้หมดไปได้
การมีน้ำใจนักกีฬา เป็นการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตประชาธิปไตย เนื่องจากตามหลักประชาธิปไตยนั้น การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จะต้องกระทำตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็หมายความว่า ในเรื่องที่มีผู้ที่มีความเห็นแตกต่างกันแล้วย่อมมีฝ่ายหนึ่งที่สมหวังและอีกฝ่ายหนึ่งที่ผิดหวัง ฝ่ายที่สมหวังหรือฝ่ายข้างมากนั้นก็ต้องไม่เยาะเย้ยถากถางอีกฝ่ายหนึ่ง แต่จะต้องให้ความเห็นใจ และพร้อมที่จะรับฟังปัญหาของอีกฝ่ายเพื่อหาทางช่วยเหลือแก้ไขในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่สมหวัง ก็ต้องยอมรับในความเห็นของคนส่วนใหญ่และพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนร่วมมือนอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมองข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจจะมีขึ้น ว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ผูกใจเจ็บหรือเก็บมาเป็นอารมณ์ครุ่นคิดว่าเป็นเรื่องที่เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี
การปฏิบัติตามกฎหมาย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เป็นกฎหมายที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ เพราะหากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับกฎหมายใด ๆ ก็สามารถที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น ๆ โดยอาศัยกลไกทางการเมืองการปกครองต่าง ๆได้ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงออกโดย
๑. การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคกัน
๒. ให้ความสำคัญต่อทุกคน ในการที่จะรับฟังความเห็นความต้องการของเขา
๓. ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก มีความเป็นกลางในการตัดสินปัญหาต่างๆ โดยไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาใช้ในการพิจารณาปัญหาของส่วนรวม
การดำรงตนในสังคมประชาธิปไตย
การดำรงตนในสังคมประชาธิปไตยเป็นการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และการที่จะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมั่นคง และเกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวมนั้นประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับชุมชน / หมู่บ้าน / ตำบล ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งจะสามารถมีส่วนร่วมได้ในลักษณะต่างๆ ดังนี้
๑. การใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนในระดับต่างๆ
๒. การลงสมัครรับเลือกตั้งและเข้าร่วมดำรงตำแหน่งทางการเมืองการปกครองในระดับต่างๆ
๓. การแสดงความเห็นสนับสนุน คัดค้าน หรือเสนอแนะต่างๆ อย่างมีเหตุผลและมีใจเป็นธรรม
๔. การให้ความร่วมมือในกิจกรรมของส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยส่วนรวม โดยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือ
ยอมรับในเสียงข้างมาก และเคารพในเสียงข้างน้อย
เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่าทุกคนมีอำนาจในการปกครองโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น การตัดสินใจปัญหาต่าง ๆ จึงต้องทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือตามเสียงข้างมาก ซึ่งฝ่ายข้างน้อยต้องให้การยอมรับและปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจแต่ในขณะเดียวกันฝ่ายข้างมากก็ต้องยอมรับฟังเหตุผล ความจำเป็นของฝ่ายข้างน้อยและไม่ละเลยประโยชน์หรือความจำเป็นของฝ่ายข้างน้อยที่ควรจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งในบางครั้งฝ่ายข้างมากอาจต้องยอมสละประโยชน์ของตนหากเห็นว่าความต้องการของฝ่ายข้างน้อยเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
การเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมของชุมชน สังคม ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่มุ่งมั่นเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัวโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ เช่น ไม่สร้างความร่ำรวยด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง
การมีวินัย
วินัยเป็นสิ่งสำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือหลักการปกครองตนเอง เพราะหากคนในชาติไม่มีวินัยแล้ว ก็แสดงว่าไม่สามารถควบคุมบังคับตนเองให้อยู่ในกรอบกติกาที่ตนและผู้อื่นร่วมกันกำหนดขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองตนเองได้เช่นกันซึ่งการมีวินัยนั้น จะต้องถือปฏิบัติ ดังนี้
๑. ไม่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคม
๒. ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน
๓. ปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม
๔. ปฏิบัติตามประเพณีอันดีงามของสังคม
มีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็น และพฤติกรรมที่แตกต่าง
เนื่องจากในสังคมประชาธิปไตยได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในสังคมทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะมีความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีความอดกลั้นต่อความคิดเห็นและพฤติกรรมที่แตกต่างจากตน ดังคำขวัญที่ว่า “แตกต่างได้ แต่ไม่แตกแยก” โดยจะต้องเคารพในความคิดของผู้อื่น ตราบใดที่ความคิดและพฤติกรรมนั้นไม่ละเมิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง
การดำรงตนในชีวิตประจำวัน
การดำรงตนในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตประชาธิปไตยนั้น ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
การส่งเสริมประชาธิปไตยในครอบครัว
๑. สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่ปรองดองกัน
๒. เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้ที่ประสบการณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัว
๓. พ่อแม่ยอมรับฟังความเห็น ความต้องการของลูก
๔. ตัดสินปัญหาต่างๆ โดยใช้เหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์
๕. ปรึกษาหารือกันในเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้นั้น
๖. พ่อแม่ลูกรู้จักหน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ เต็มใจ
การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน
๑. สอนให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม
๒. กระตุ้นและเปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ
๓. ฝึกหัดให้นักเรียนยอมรับฟังความเห็นและเหตุผลของผู้อื่น
๔. พยายามโน้มน้าวใจให้นักเรียนเข้าใจถึงเหตุผลในกฎระเบียบต่าง ๆมากกว่าที่จะใช้อำนาจบังคับแต่เพียงอย่างเดียว
๕. พยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก และมีความรับผิดชอบในการทำงานเป็นกลุ่ม
๖. ฝึกหัดให้นักเรียนยอมรับในข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มและปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
การส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน
๑. ร่วมในการประชุมหรือกิจกรรมของชุมชนอย่างเต็มใจ
๒. รับฟังความคิดเห็นของทุกคน และไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแม้จะมีความเห็นขัดแย้งกัน
๓. ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
๔. มีการปรึกษาหารือกันในขณะทำงาน
๕. ร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ มากกว่าที่จะคอยซ้ำเติม
๖. เคารพกฎระเบียบของชุมชนและกฎหมาย
๗. ติดตามข่าวสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
๘. ตัดสินปัญหาโดยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ควรรีบร้อนให้มีการลงมติ
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า
วิถีชีวิตประชาธิปไตยเป็นยึดหลักการใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึกส่วนตัวหรืออารมณ์และการดำรงตนในสังคมประชาธิปไตยนั้นต้องมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ เราต้องยอมรับในเสียงข้างมากและเคารพในเสียงข้างน้อยเพราะการตัดสินใจนั้นเราต้องฟังความคิดเห็นข้างมาก และเราต้องเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นวิถีชีวิตประชาธิปไตยเราต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การดำรงตนในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตประชาธิปไตย เราต้องส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตยโดยมีองค์ประกอบต่างๆคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยในครอบครัว การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน การส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน
อ้างอิง
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๕๓.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น