ขอบข่ายของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มีขอบข่ายด้านเนื้อหาประกอบด้วยหน่วยการอบรมทั้งหมด 6 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 1 หลักการและแนวคิดของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยที่ 2 หลักการและแนวคิดของการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หน่วยที่ 3 หลักการและแนวคิดของการวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียนและวิเคราะห์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ หน่วยที่ 4 หลักการและแนวคิดของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หน่วยที่ 5 หลักการและแนวคิดของการจัดการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และหน่วยที่ 6 หลักการและแนวคิดของการวัดผลและประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ส่วนขอบข่ายด้านเวลาในการฝึกอบรม มีทั้งหมด 18 ชั่วโมง แยกเป็นการอบรมหน่วยละ 3 ชั่วโมง ใช้เวลาอบรมต่อเนื่องทั้งหมด 3 วันทำการอบรม
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรการพัฒนาสมรรถภาพการสอนบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักต่อการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการแบบสอดแทรกสำหรับนักศึกษาครูเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน อีกทั้งช่วยให้นักศึกษาครูมีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติการจัดการเรียนรู้การสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรกเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ขณะฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา
ลักษณะของหลักสูตร
ลักษณะของหลักสูตรการพัฒนาสมรรถภาพการสอนบูรณาการแบบสอดแทรกสำหรับนักศึกษาครูเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ประกอบด้วย 6 หน่วย ดังนี้
หน่วยที่ 1 หลักการและแนวคิดของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นคุณลักษณะสำคัญที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งเน้นให้การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรดังกล่าวได้เสริมสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน หลักสูตรดังกล่าวจึงกำหนดหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง แนวกิจกรรม และการวัดผล และประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในหลักสูตรด้วย
การนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่การจัดการเรียนการสอนให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรได้นั้น ผู้สอนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลักสูตรและสามารถแปลงหลักสูตรไปสู่การจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยที่ 2 หลักการและแนวคิดของการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นการบูรณาการโดยผู้สอนคนเดียว เชื่อมโยง ผสมผสานสอดแทรกกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ขณะจัดการเรียนการสอน
รูปแบบการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ประกอบด้วย การบูรณาการในเนื้อหา การบูรณาการในกิจกรรม และการบูรณาการตามสถานการณ์ / เหตุการณ์ ส่วนเทคนิคที่นำมาใช้ประกอบการบูรณาการตามรูปแบบต่าง ๆ นั้นเป็นเทคนิคการสอนทั่วๆ ไป เช่น การใช้คำถาม การอภิปราย การให้ปฏิบัติกิจกรรม
หน่วยที่ 3 หลักการและแนวคิดของการวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียน และวิเคราะห์คุณลักษณะอันพึงประสงค์
การเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์โดยบูรณาการแบบสอดแทรกผู้สอนต้องบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างให้มีความสอดคล้องกับจุดหมาย หลักการ ตัวชี้วัดของหลักสูตรและสอดคล้องกับสภาพของผู้เรียน ดังนั้นการบูรณาการแบบสอดแทรก ผู้สอนจึงต้องวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียน และวิเคราะห์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกันก่อนเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติในขั้นจัดการเรียนการสอนต่อไป
หน่วยที่ 4 หลักการและแนวคิดของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นการเตรียมการก่อนการจัดการเรียนรู้โดยกำหนดจุดประสงค์การจัดการเรียน สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ และการวัดผลประเมินผล ซึ่งการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สอนก็ต้องเตรียมเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างให้กับผู้เรียนไว้ในส่วนต่าง ๆ ของแผนการจัดการเรียนรู้
หน่วยที่ 5 หลักการและแนวคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพนั้นการจัดกิจกรรมต้องใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ดี โดยความสอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียน จิตวิทยาการเรียนรู้ และสอดคล้องเหมาะสมกับสาระเนื้อหา กิจกรรม และสถานการณ์หรือเหตุการณ์
หน่วยที่ 6 หลักการและแนวคิดของการวัดผลและประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การวัดผล และประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์
หลักการและแนวคิดของการวัดผลและประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การวัดผล และประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบไปด้วยกระบวนการตั้งแต่การกำหนดพฤติกรรมบ่งชี้ เกณฑ์การประเมินพฤติกรรมบ่งชี้ การพัฒนาเครื่องมือวัด และประเมิน การดำเนินการวัด และประเมิน ตลอดจนการแจ้งผลและนำผลการประเมินไปสู่กระบวนการของการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ของหลักสูตรการพัฒนาสมรรถภาพการสอน
การใช้หลักสูตรพัฒนาสมรรถภาพการสอนของนักศึกษาครูสอดแทรกแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้ ประกอบการพัฒนาตามคู่มือ 3 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดการเรียนรู้ด้วยตนเองแนวคิดของการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐาน และแนวคิดของการเรียนรู้ตามสภาพจริง รายละเอียดมีดังนี้
1. แนวคิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self–directed learning) เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งให้นักศึกษาครูคิด วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ในเรื่องของการใช้แนวคิดวิเคราะห์งาน วิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียน วิเคราะห์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ วิเคราะห์และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ วิเคราะห์ผลการจัดการเรียนและผลการพัฒนาด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตลอดจนการกำหนดการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนด้วยตนเองได้
2. แนวคิดของการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐาน (experience based learning) เป็นแนวคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้จากฐานความรู้เดิมในด้านของความเข้าใจเดิมเชื่อมโยงการเรียนรู้ใหม่แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ประเมินและเรียนรู้จากผลการปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเป็นวัฏจักรที่ต่อเนื่อง เช่น วิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา วิเคราะห์การฝึกปฏิบัติในปัจจุบันเพื่อพัฒนา
3. แนวคิดของการเรียนรู้ตามสภาพจริง (authentic learning) เป็นแนวคิดที่มุ่งให้นักศึกษาครูเกิดการเรียนรู้จากสภาพการจริงที่เกิดขณะพัฒนาสมรรถภาพการสอนขณะพัฒนาในขั้นอบรม ฝึกปฏิบัติ และขณะฝึกปฏิบัติการสอนจริงในสถานศึกษา โดยเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยตนเอง การชี้แนะ แนะนำจากครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศก์
กระบวนการของกิจกรรมการพัฒนาสมรรถภาพการสอน
หลักสูตรพัฒนาฉบับนี้ใช้ประกอบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนของนักศึกษาครูสำหรับการวิจัยครั้งนี้ แต่ละหน่วยประกอบด้วยกระบวนการพัฒนาสมรรถภาพการสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน 6 ขั้นตอนการพัฒนา ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การให้หลักการ/ความรู้/ความตระหนัก เป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับหลักการสอนสำคัญของการสอนบูรณาการแบบสอดแทรกเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
- เสนอหลักการ แนวคิด ทฤษฎี
- เสนอกรณีศึกษาเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์
ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวอย่างการสอน กิจกรรม แผนการจัดการเรียนรู้ และเนื้อหาของหลักสูตร เพื่อวิเคราะห์แนวทางการสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์
- อภิปรายเชิงวิเคราะห์ร่วมกัน
- วิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดเป้าหมาย ประเด็นพัฒนา เป็นองค์ประกอบของการกำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่แสดงออกของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 3 ประการ เพื่อพัฒนาโดยการสอนแบบสอดแทรก
- เสนอแนวทางการพัฒนา
- กำหนดเป้าหมาย
- เสนอหลักการ แนวทางที่ถูกต้อง
- เชื่อมโยงหลักการ แนวคิด สู้การนำไปปฏิบัติจริง
ขั้นตอนที่ 4 ฝึกปฏิบัติและนำความรู้ไปใช้เป็นองค์ประกอบของรูปแบบที่เกี่ยวกับการให้นักศึกษาครูวิเคราะห์ กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์แล้วฝึกเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการพัฒนา และฝึกปฏิบัติการสอนขณะฝึกอบรม
- ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพการสอน
- ปฏิบัติการสอนในสถานการณ์จริง
ขั้นตอนที่ 5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นองค์ประกอบที่ให้ผู้รับการพัฒนาได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์จากการปฏิบัติและนำความรู้ไปใช้โดยแบ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพัฒนาตามรูปแบบ การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา
- สรุป และประเมินความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ ปฏิบัติเพื่อการพัฒนา ปรับปรุงและนำไปใช้ต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 การประเมินผล เป็นองค์ประกอบของการประเมินผลการฝึกปฏิบัติและการนำความรู้ไปใช้ โดยนักศึกษาครูประเมินตนเอง เพื่อน ๆ และวิทยากรร่วมประเมิน โดยประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอน พฤติกรรมการสอน และการประเมินผลการสอน
- เสนอผลงาน / แนวคิดเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม.
- วิพากษ์ผลงาน / แนวคิด
- ประเมินผลงานร่วมกัน / ประเมินผลงานตนเอง
- ประเมินรูปแบบ กระบวนการของรูปแบบ
การประเมินผลหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ
การประเมินผลหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถภาพการสอนบูรณาการแบบสอดแทรกฯ สำหรับนักศึกษาครูนี้ จะประเมินจาก (1) ผลการแลกเปลี่ยนและสะท้อนการเรียนรู้ของนักศึกษาครู (2) ผลการฝึกปฏิบัติตามใบงาน เช่น ผลการอภิปรายตามใบงาน ผลการวิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้ที่มีลักษณะการบูรณาการแบบสอดแทรกเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน การวิเคราะห์พฤติกรรมบ่งชี้คุณลักษณะอันพึงประสงค์ การพัฒนาแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น