คำว่าครูนั้น เป็นคำที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายให้กับศิษย์ได้ทุกอย่าง แต่ต้องเป็นบุคคลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง อยู่ในกรอบศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ดังผู้เขียนเคยเข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาที่สังกัดอยู่ มีอาจารย์วิทยาท่านหนึ่งให้แง่คิดของคนเป็นครูอาจารย์ไว้อย่างน่าคิดว่า ครู อาจารย์ เป็นบุคคลที่สวรรค์ส่งมาเกิดให้มุ่งมาทำความดีเพียงอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึงเลยท่านว่าอย่างนี้ ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ควรประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของคุณงามความดีที่ควรปฏิบัติเป็นแบบอย่างของลูกศิษย์ โดยคุณธรรมที่พึงประสงค์หรือพึงปฏิบัติของครูไทยนั้น อาจยึดปฏิบัติตามหลักธรรมที่สำคัญของศาสนาที่ตนนับถือก็ได้ อย่างไรก็ดีสำหรับคุณธรรมของครูไทยตามแนวทางพุทธศาสนานั้น ครูแต่ละคนควรศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนเรื่องทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งแปลว่า ทางสายกลางแห่งข้อปฏิบัติฝึกฝนใจในทางที่ชอบ
คำว่าทางสายกลางนั้น หมายถึง ทางดำเนินทางใจหรือข้อปฏิบัติบำเพ็ญทางใจที่ทำให้พ้นจากกิเลสอันเป็นข้าศึกทางสายกลางดังกล่าวคือ อริยมรรคอันมีองค์ 8 นั่นเอง คุณธรรมข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมชั้นสูงในศาสนาพุทธอัน ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ
การเห็นชอบ หมายถึง การเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา เห็นถูก เห็นผิดตลอดจนการเห็นในฝ่ายดีทั้งหลายที่เรียกว่า การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ 2539:30) กล่าวว่า สัมมาทิฏฐิเป็นรุ่งอรุณแห่งทางพ้นทุกข์หรืออาจพูดว่า การเห็นชอบเป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์ ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิ และถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครูที่มีความเป็นครู กล่าวคือ ผู้นั้นจะเป็นครูที่เข้าใจอาชีพครูอย่างถูกต้อง เห็นอุดมการณ์ของความเป็นครู ทำให้เลือกปฏิบัติได้ถูกต้องว่าจะเป็นคนรับจ้างสอนหนังสือ หรือเป็นครูจริยบุคคลนั้นเอง
2. สัมมาสังกัปปะ
การดำริชอบ หมายถึง การคิดอย่างฉลาด รอบคอบ รู้จักไตร่ตรอง เป็นผู้มีวิธีคิด รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม คิดในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อศิษย์ และต่อสังคม ครูผู้มีความคิดไม่เบียดเบียน ไม่มุ่งร้าย ไม่อาฆาตแค้น ย่อมเป็นครูที่มีความสมบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ครู
3. สัมมาวาจา
การพูดจาชอบ หมายถึง การไม่พูดจาส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบ และไม่พูดปดพูดเท็จ ครูต้องใช้คำพูดกับศิษย์อยู่ตลอดเวลาทั้งในห้องเรียนและนอกเวลาเรียน การพูดและวิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้ ความรู้สึก และจิตใจของศิษย์เสมอ ครูพูดด้วยความจริงใจ อ่อนโยน ไพเราะ ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ
4. สัมมากัมมันตะ
การทำการงานชอบ หมายถึง การกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจและตั้งใจอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลายการกระทำการใด ๆ ด้วยความมุ่งมั่น อดทน ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ และรอบคอบ ครูผู้มีธรรมข้อนี้ย่อมเป็นครูผู้กล่าวเผชิญกับกิจการการงานทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ
การเลี้ยงชีวิตชอบ หมายถึง การทำอาชีพสุจริตและไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย ธรรมข้อนี้สำหรับครูนั้นหมายรวมถึงความพยายามเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวโดยวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เบียดเบียนเวลาในการสอนหรือเวลาตามหน้าที่ครูตลอดจนการใช้เวลาว่างเพื่อเลี้ยงดูตนเองโดยแบ่งเป็นเวลาสำหรับการศึกษาค้นคว้าความรู้เพื่อใช้สอนศิษย์ การใช้เวลาว่างเพื่อพักผ่อนและสุขภาพ
6. สัมมาวายามะ
การเพียรชอบ หมายถึง การมุ่งมั่นพยายามในทางฝ่ายดีทั้งหลายครูผู้มีความเพียร คือครูผู้พยายามศึกษาความรู้อยู่เสมอ มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติหน้าที่การงาน
7. สัมมาสติ
การระลึกชอบ หมายถึง การพิจารณาไตร่ตรองสภาพสิ่งแวดล้อมในทางที่ถูก การไตร่ตรองว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เพื่ออะไร และโดยวิธีใด ย่อมทำให้จิตใจผู้ไตร่ตรองสงบและเป็นสุข ทั้งสติปัญญาก็จะยิ่งเฉียบแหลมรอบคอบในการผจญปัญหาใด ๆ ครูผู้ระลึกชอบย่อมเป็นครูผู้มีสติ ไม่เสียสติและอยู่ในทำนองคลองธรรมและไม่ออกนอกลู่นอกทาง
8. สัมมาสมาธิ
ความตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง การตั้งอยู่ในความสงบไม่วอกแวกโลเล ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายมาหลอกล่อให้หลงผิด ครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นครูผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู เพราะจะเป็นครูที่ไม่มีจิตใจฝักใฝ่ในทางอื่นที่มิใช่ทางแห่งวิชาชีพของตนไม่พยายามหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นๆ ไม่คิด ไม่เห็นไม่นอกลู่นอกทางของความเป็นครู
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ครูผู้ยึดมั่นในอริยมรรคอันมีองค์ 8 นั้น ย่อมเป็นครูผู้มีคุณธรรมที่เปี่ยมล้นด้วยจริยธรรมอันดีงาม เพราะครูผู้นั้นเป็นครูที่ไม่ประมาทในสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตไม่ตึงจนเกินไป และไม่หย่อนยานเหลวไหลจนเกินไป ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงานที่ตนต้องรับผิดชอบ ตลอดจนเรื่องของการดำเนินชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยกิเลสที่คอยยั่วยุให้หลงผิดอยู่ตลอดเวลา ครู อาจารย์คนนั้นจะเป็นบุคคลที่มีความสุขตลอดเวลาเปี่ยมล้นด้วยการเป็นผู้ให้ตลอดเวลา