บทความหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบการศึกษาในประเทศไทยของเรา โดยบทความนั้นได้เขียนเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยว่า "การให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง " โดยมีเนื้อหาสาระดังต่อไปนีhปัจจุบันเรายอมรับกันแล้วว่า คุณภาพเด็กไทยแย่ลงแต่ครูได้ตำแหน่งสูงขึ้นเป็น คศ.3 (ระดับ 8) คศ.4 (ระดับ 9) คศ.5 (ระดับ 10) ครูที่ได้ตำแหน่งสูงขึ้นนี้หมายถึง ครูคนนั้นต้องมีความชำนาญการ และความเชี่ยวชาญในการสอน หรือสอนเก่ง เมื่อครูสอนเก่งแล้ว ทำไมคุณภาพเด็กยังแย่อยู่โรงเรียนขนาดเล็กบางโรงมีนักเรียนทั้งหมด (ทุกระดับชั้น)ไม่เกิน 100 คน มีครูที่ได้ คศ.3 หลายคนแต่ทำไมเด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ คิดเลขไม่เป็นเหมือนเดิม ซึ่งสวนทางกันกับความก้าวหน้าในตำแหน่งของครูที่สูงขึ้น จากการสอบถามครูซึ่งมาเรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดโดยถามว่าพวกครูเขาทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอตำแหน่ง คศ.3 กันอย่างไร คำตอบที่ได้ตรงกันคือว่า พวกครูจะทุ่มเทกันมากในการทำผลงานทางวิชาการ ส่วนงานสอนจะเป็นงานรอง ผลงานทางวิชาการครูหลายคนก็ไม่ได้เขียนขึ้นเอง ให้คนอื่นเขียนให้ (จ้างทำผลงาน)โดยตัวเองเป็นผู้หาข้อมูล หรือหลักฐานต่างๆ มาให้ผู้รับจ้าง หลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในการเขียนนั้นก็จะมีการสมยอม และร่วมมือกันระหว่างครูที่อยู่ในโรงเรียนใกล้เคียง เช่น มีการทำหนังสือรับรองว่าได้นำผลงานไปใช้สอนแล้วทำให้เกิดผลดีกับนักเรียน อย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สอนจริงและไม่เคยเห็นผลงานนั้นเลยด้วยซ้ำ หรือให้เพื่อนครูช่วยเขียนคำนิยมชมเชยผลงานให้เป็นต้น ผลงานที่ครูทำเสร็จแล้วซึ่งอาจจะทำขึ้นเองหรือจ้างคนอื่นทำก็ตาม ไม่ได้นำไปใช้สอนนักเรียนอย่างจริงจังในสภาพปกติ ส่วนคะแนนของนักเรียนที่นำมาเขียนรายงานการใช้เอกสาร หรือข้อมูลต่างๆ ก็สร้างขึ้นเอง (ยกเมฆขึ้นเนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบ)ก็ไม่อยากจะโทษครูในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่า กฎระเบียบกำหนดกันไว้อย่างนั้นว่าให้ประเมินผลงานที่เป็นเอกสาร (ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานทางด้านเอกสารมากกว่าผลงานที่เป็นอุปกรณ์การสอน) ครูก็ยังต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานทางวิชาการเหมือนเดิม และตอนนี้ใครที่จะขอ คศ.3 จะต้องไปอบรมตามเกณฑ์ใหม่ก่อนจึงจะเสนอขอตำแหน่งได้ เกณฑ์การประเมินอย่างนี้หรือที่จะทำให้เด็กไทยเรามีคุณภาพดีขึ้น เมื่อเกณฑ์การประเมินที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีปัญหาต่อคุณภาพของเด็กสมควรที่จะยกเลิกให้หมด และมากำหนดเกณฑ์การประเมินใหม่โดยยึดคุณภาพที่ตัวเด็กเป็นสำคัญหมายความว่า ถ้าครูคนไหนสอนแล้วเด็กมีคุณภาพตามเกณฑ์ให้ตำแหน่ง คศ.3 คศ.4 หรือ คศ.5 ไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าครูคนนั้นจะใช้เทคนิคการสอนอย่างไร มีเอกสารหรืออุปกรณ์การสอนอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน ถ้ายิ่งครูคนไหนสอนอยู่ในโรงเรียนที่ยากจน แต่สอนเด็กให้มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนที่ร่ำรวยทั้งหลายก็ควรจะให้ตำแหน่ง คศ.4 หรือ คศ.5 เลยเหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคนที่เก่งมากๆ ยังได้เลื่อนตำแหน่งจากอาจารย์เป็นรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มาก่อน เกณฑ์การประเมิน คศ.3 โดยยึดที่ตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ขอเสนอแนวทางดังนี้
1. จัดโรงเรียนเป็นกลุ่มๆ ตามคุณภาพโดยใช้คะแนนสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) หรือสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะจัดเป็นกลุ่มภายในเขตพื้นที่เดียวกัน หรือจัดกลุ่มทั้งประเทศก็ได้
2. กำหนดเกณฑ์การประเมิน คศ.3 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียน (กลุ่มคุณภาพโรงเรียนแต่ละกลุ่มจะมีเกณฑ์การประเมินต่างกัน)
3. กำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของเด็กในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
4. สร้างแบบทดสอบตามตัวชี้วัดคุณภาพทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้หลายๆ ชุดที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
5. การประเมินตำแหน่ง คศ.3 ของครูที่สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาจจะอยู่กลุ่มคุณภาพโรงเรียนเดียวกัน หรือต่างกลุ่มกัน จะประเมินด้วยแบบทดสอบที่สร้างขึ้นตามข้อ 4 หรือใช้คะแนนสอบของ สทศ. กับสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
6. การตัดสินว่าใครจะได้หรือไม่ได้ คศ.3 จะใช้เกณฑ์การประเมินของแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียนที่กำหนดขึ้นตามข้อ 2 เกณฑ์การประเมินแนวทางนี้ เชื่อว่าจะทำให้ครูอยู่ในห้องเรียน และทุ่มเทกับการสอนเด็กมากขึ้นถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเด็กไทยน่าจะมีคุณภาพสูงขึ้น โดยโรงเรียนต้องจัดนักเรียนเข้าห้องเรียนแบบคละกันคือแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนเก่งและอ่อนพอๆ กัน ถ้าไม่จัดแบบนี้ครูก็จะแย่งกันสอนแต่ห้องที่มีนักเรียนเก่งๆ และให้มีความสอดคล้องกับการจัดการศึกษายุคใหม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการพลเมืองยุคใหม่ ครูยุคใหม่ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ การบริหารจัดการยุคใหม่ โดยกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ เป้าหมายตัวชี้วัดที่ชัดเจนกระทรวงศึกษาธิการได้มีคณะกรรมการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งได้ทำแผนปฏิบัติการที่กำหนดให้องค์กรหลักต่างๆ มีความรับผิดชอบในฐานะเจ้าภาพหลัก เจ้าภาพรอง เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีแนวทางพัฒนาการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา ดังนี้
1. ให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษา และสังคมต้องชูธงร่วมกัน เพราะเรื่องการศึกษาเป็นการสร้างคน ต้องทำให้คนในสังคมเห็นความสำคัญในการดำเนินการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เสมอภาค ผู้เรียนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง และที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม
2. ครู เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ดังนั้นจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการวางระบบที่จะผลิตครู พัฒนาครู การใช้ครู ตลอดจนการพัฒนาระบบค่าตอบแทนให้กับครู การดึงคนเก่ง คนดี มาเป็นครู รวมถึงการยกระดับมาตรฐานและวิชาชีพของครูให้สูงขึ้น
3. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะช่วยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และช่วยในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตลอดชีวิต
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง เราต้องมุ่งหมายเป้าหมายที่สำคัญไปที่เด็กก่อน เราจะต้องไม่ทิ้งเด็กไปทำตำแหน่ง คศ.3 เหมือนเดิม ควรมีการตั้งกติกาในการประเมินแบบใหม่เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับครูผู้สอน ครูผู้สอนจะได้มีกำลังใจในการทำงานอย่างเต็มที่อยู่กับเด็กตลอดเวลา ภูมิใจกับตำแหน่งที่ได้มาและสอดคล้องกับแนวโน้มในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถกับตำแหน่งงานของตนที่เป็นอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น