วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ต้องปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ จึงจะปฏิรูปการเมืองได้

การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและเสมอภาคในหลายประเทศนำไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตยได้   แต่ในประเทศไทยไม่เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง  เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่ล้าหลัง  การศึกษารวมทั้งครูส่วนใหญ่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบผูกขาด ฉ้อฉล  และไม่เป็นธรรม และคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักว่าที่ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของไทยล้มเหลว นั้นเป็นเพราะเราไม่สนใจปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง  การจัดการศึกษาของไทย เป็นแบบจารีตนิยม เน้นการท่องจำและการเชื่อฟัง ยกย่องระบบอภิสิทธินิยม อำนาจนิยม และอุปถัมภ์นิยม การพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมผูกขาด มองการศึกษาเป็นแค่การฝึกทักษะและสร้าง ทรัพยากรมนุษย์”   มุ่งคัดคนส่วนหนึ่งให้มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพ เพื่อไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เน้นการแข่งขันด้านการผลิตและการค้า  เพื่อประโยชน์ของนายทุนและชนชั้นกลางส่วนน้อย   มากกว่าที่จะกระจายความรู้ความฉลาดรอบด้านและความมั่งคั่งสู่คนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรม
การจัดการศึกษาของไทยมีปัญหาทั้งทางปริมาณ (กระจายไม่ทั่วถึงไม่เป็นธรรมเด็กออกกลางคันมาก แรงงานเกินครึ่งหนึ่งจบแค่ประถมศึกษาและต่ำกว่า) และทางคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำ เด็กไม่ชอบไปโรงเรียนและเครียด  คนจบการศึกษาทุกระดับรวมทั้งคนที่จบมหาวิทยาลัย (เฉพาะคนจบ ป.ตรี มีราว 5.7 ล้านคน หรือ 16% ของแรงงานทั้งหมด) คือคนที่ท่องจำเก่งและเรียนรู้ทักษะบางอย่าง แต่ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็น  ไม่รู้จักประยุกต์ความรู้เทคโนโลยีมาใช้กับสังคมไทยอย่างเข้าใจโลกของความเป็นจริง ไม่ได้รับการฝึกอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ  มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน มีจิตสำนึกในเรื่องความเสมอภาคประชาธิปไตย และการถือหลักการผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
ปัญหาหลักของประเทศ คือ ชนชั้นนำทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้นำองค์กรท้องถิ่นรวมทั้งผู้บริหารการศึกษาครูอาจารย์  เป็นพวกที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง และจัดการศึกษาเลียนแบบประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมโดยได้แต่รูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก แต่ไม่ได้พัฒนาเนื้อหาสาระของกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพคุณภาพที่เป็นแก่นแท้  การมุ่งคัดคนส่วนน้อยไปเป็นแรงงานที่มีการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อรับใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด และการที่วัฒนธรรมไทยเป็นแบบถือยศศักดิ์ฐานันดร สถานะทางสังคม ยกย่องยอมรับคนที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยและให้ที่เงินเดือนสูงกว่าคนที่ไม่จบปริญญา  ทำให้ระบบสอบแข่งขันแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐ (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียง) ที่รับคนได้จำกัด เป็นไปอย่างเข้มข้นและทำให้นักเรียนมุ่งกวดวิชาและท่องหนังสือเพื่อสอบมากกว่าจะสนใจการเรียนเพื่อจะรู้และพัฒนาศักยภาพตนเองในทุกด้าน  ระบบการศึกษาที่เน้นการแพ้คัดออก   ทำให้นักเรียนที่มาจากครอบครัวมีรายได้ต่ำ การศึกษาน้อย ต้องยอมถูกคัดออกไประหว่างทางจำนวนมาก (เด็กที่เข้า ป.1 เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ได้เรียนถึงม.6 เพียงครึ่งเดียวของเด็กทั้งหมด)  นักเรียนมุ่งเรียนแบบกวดวิชาและท่องจำเพื่อสอบแข่งขันเพราะต้องการประกาศนียบัตร/ปริญญามากกว่าเรียนเพื่อรู้  และเพราะนิสัยความเห็นแก่ตัวมากกว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนหรือรู้จักทำงานเป็นทีมด้วย  เป้าหมายการศึกษาที่เขียนไว้สวยหรูว่าจะสอนให้นักเรียนเป็นคนเก่งดี มีความสุข  ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของการจัดการทางเศรษฐกิจและการจัดการศึกษาในประเทศไทยที่เน้นการแข่งขันเพื่อตัวใครตัวมัน และเน้นผลลัพธ์ปลายทางคือ  ประกาศนียบัตร/ปริญญาบัตร มากกว่ากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่รักการอ่าน การค้นคว้าเรียนรู้  คิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น  มีจิตสำนึกพลเมืองที่รับผิดชอบ
ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาเกิดจากการที่ชนชั้นนำเองทั้งไม่ฉลาดและทั้งเห็นแก่ตัว พวกเขาต้องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการลงทุนและกับประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกและเน้นความเจริญเติบโตของผลผลิตโดยรวมอย่างสุดโต่ง เพราะพวกเขาคิดไม่เป็นว่าอาจมีทางเลือกการพัฒนาแบบอื่น และเพราะพวกชนชั้นนำ/ชนชั้นกลางเองได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการพัฒนาแนวทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารนี้    ประเทศไทยมีแรงงาน  (35 ล้านคน)  ทรัพยากร ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมฯลฯ ที่เราสามารถจะนำมาใช้สร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศไทย เช่นเศรษฐกิจแบบพึ่งแรงงาน ทรัพยากร ตลาดภายในประเทศ เน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้พึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น  ถ้าเรากล้าคิดวิเคราะห์ให้ข้ามพ้นกรอบความเคยชินของการได้แต่เลียนแบบการพัฒนาแบบตะวันตกและคิดมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่ง  ประเทศไทยมีทั้งแรงงาน (ประชากรใหญ่อันดับ 21 ของโลก) ทรัพยากร (อาหารและปัจจัยพื้นฐานหลายอย่าง)และทุนอยู่มาก(เงินฝากธนาคารทั้งระบบ 6 ล้านล้านบาท พอๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP ของประเทศ)  เราสามารถที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ คือระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมกับระบบสหกรณ์ และรัฐสวัสดิการ เน้นการพัฒนาคนและทรัพยากรภายใน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายในและตลาดภายในประเทศให้เติบโตเป็นสัดส่วนสูงขึ้นได้ หากเรากระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ การมีงานทำสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม พัฒนาการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตและบริโภคสินค้าที่เป็นประโยชน์ เช่นอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า การศึกษา เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  หากเราเปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนาประเทศใหม่ว่าควรเน้นไปที่การพัฒนาชีวิตและสังคมที่ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิต  แทนที่จะเน้นการเพิ่มผลผลิตสินค้าและบริการ เราก็จะสนใจที่จัดการศึกษาแบบใหม่ที่มีเป้าหมายที่กว้างกว่าผลิตแรงงานไปป้อนระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป้าหมายใหม่คือต้องช่วยประชาชนทั้งหมดให้มีโอกาสพัฒนาความฉลาดทุกด้านอย่างสร้างสรรค์ เกิดความตระหนักในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง รู้ว่าคนเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องช่วยเหลือกันร่วมมือกันควบคู่กันไปกับการแข่งขัน เพื่อที่จะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมของชุมชนและประเทศอย่างยุติธรรม สร้างสรรค์  และยั่งยืน
การจัดการศึกษาเพื่อเป้าหมายใหม่ ต้องส่งเสริมให้เด็กเยาวชนประชาชนรักการอ่าน การเรียนรู้ ครูต้องเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ รัฐต้องให้บริการให้ประชาชนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกหนทุกแห่งทุกเวลาอย่างมีคุณภาพและหลากหลาย เช่นให้บริการการศึกษาทุกระดับทุกสาขาวิชาสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งวันธรรมดา ตอนเย็นและเสาร์อาทิตย์ การศึกษาทางไกลและระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยรูปแบบต่างๆ ปฏิรูปสื่อมวลชนให้มีเนื้อหาสาระ ส่งเสริมการเรียนรู้ ยกระดับสติปัญญา  ศิลปวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น ลงทุนพัฒนาด้านพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด  ศูนย์เยาวชน  ศูนย์ส่งเสริมกิจกรรมด้านส่งเสริมความรู้  ศิลปวัฒนธรรมในทุกจังหวัด ทุกอำเภอและตำบลขนาดใหญ่  การศึกษาแนวใหม่จะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาทางสติปัญญา ทักษะวิชาชีพ การดูแลพัฒนาตัวเองและสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์(ทักษะทางสังคม)และความฉลาดทางจิตสำนึก รู้จักร่วมมือทำงานกับคนอื่น เพื่อการพัฒนาองค์กร, พัฒนาชุมชนประเทศ และโลกอย่างสร้างสรรค์และมองการณ์ไกล การรู้จักร่วมมือพึ่งพาอาศัยกันอย่างเป็นธรรมจะทำให้เราทั้งหมดเข้มแข็งและอยู่รอดได้ดีที่สุด
ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนแรงงานและทรัพยากร แต่ที่พัฒนาได้ล้าหลังประเทศอื่นๆ เพราะทั้งชนชั้นนำและประชาชนส่วนใหญ่ขาดแคลนภูมิปัญญา (ความเข้าใจในเรื่องชีวิตและสังคมอย่างลึกซึ้ง) และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม นักการเมือง ข้าราชการชั้นสูงและผู้มีอำนาจมีฐานะทางสังคมสูง มีปัญหาความไม่ค่อยฉลาดและเห็นแก่ตัวระยะสั้นมากไป จึงเล่นการเมืองแบบคำนึงแต่อำนาจ/ผลประโยชน์ของพวกตน ฉ้อโกง ความไม่เป็นธรรม ความยากจนขาดแคลน ขณะเดียวกันก็แบ่งแยกและปกครอง ครอบงำให้ประชาชนหลงยกย่องพวกตนด้วยอารมณ์ความรู้สึกเกิดความขัดแย้งแบ่งเป็นพรรคเป็นกลุ่มต่างๆ  การที่เราจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้ของคนไทยเพื่อเน้นสร้างภูมิปัญญาและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม แทนที่จะเน้นแต่การสร้างความรู้ทักษะในการผลิตสินค้าและการคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวแบบเก่า เราจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการทางการเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถปฏิรูประบบการเรียนรู้ใหม่เพื่อช่วยให้คนทั้งประเทศฉลาดทั้งทางปัญญา อารมณ์และจิตสำนึกได้อย่างแท้จริง
ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาเกิดจากการที่ชนชั้นนำเองทั้งไม่ฉลาด และเห็นแก่ตัว  เน้นความเจริญเติบโตของผลผลิตโดยรวมอย่างสุดโต่ง  ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชาติที่จะมาพัฒนาชาติ  อิงต่างชาติเพียงอย่างเดียว   คำนึงถึงแต่ประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง และจัดการศึกษาเลียนแบบประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมโดยได้แต่รูปแบบซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก แต่ไม่ได้พัฒนาเนื้อหาสาระของกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพคุณภาพที่เป็นแก่นแท้  การมุ่งคัดคนส่วนน้อยไปเป็นแรงงานที่มีการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อรับใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด และการที่วัฒนธรรมไทยเป็นแบบถือยศศักดิ์ฐานันดร สถานะทางสังคม ยกย่องยอมรับคนที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย  และให้เงินเดือนสูงกว่าคนที่ไม่จบปริญญา   ทำให้ระบบสอบแข่งขันแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐ ที่รับคนได้จำกัดเป็นไปอย่างเข้มข้น  และทำให้นักเรียนมุ่งกวดวิชา  และท่องหนังสือเพื่อสอบมากกว่าจะสนใจการเรียนเพื่อจะรู้พัฒนาศักยภาพตนเองในทุกด้าน  ระบบการศึกษาที่เน้นการแพ้คัดออก   ทำให้นักเรียนที่มาจากครอบครัวมีรายได้ต่ำ การศึกษาน้อย ต้องยอมถูกคัดออกไประหว่างทางจำนวนมาก  เพราะต้องการประกาศนียบัตร/ปริญญามากกว่าเรียนเพื่อรู้  และเพราะนิสัยความเห็นแก่ตัวมากกว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อน หรือรู้จักทำงานเป็นทีมด้วย  เป้าหมายการศึกษาที่เขียนไว้สวยหรูว่าจะสอนให้นักเรียนเป็นคนเก่ง  ดี  มีความสุข  ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของการจัดการทางเศรษฐกิจ  และการจัดการศึกษาในประเทศไทยที่เน้นการแข่งขันเพื่อตัวใครตัวมัน และเน้นผลลัพธ์ปลายทาง  คือ  ประกาศนียบัตร/ปริญญาบัตรมากกว่ากระบวนการเรียนรู้  และพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่รักการอ่าน การค้นคว้าเรียนรู้  คิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น  มีจิตสำนึกพลเมืองที่รับผิดชอบ 
จากที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่าการจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  แต่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในชาติของตนอย่างแท้จริง  จึงทำให้คนในประเทศเกิดการแข่งขันไร้ซึ่งมนุษยธรรม  ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ต่างคนต่างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเพื่อความอยู่รอเท่านั้นเอง  แต่ถ้าเราต้องการที่จะล้มล้างระบบเหล่านี้เราต้องมาจัดการศึกษาเพื่อเป้าหมายใหม่ คือ  ต้องส่งเสริมให้เด็ก  เยาวชน  และประชาชนรักการอ่าน การเรียนรู้ ครูต้องเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ รัฐต้องให้บริการให้ประชาชนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกหน ทุกแห่ง ทุกเวลาอย่างมีคุณภาพ และหลากหลาย เช่น  ให้บริการการศึกษาทุกระดับทุกสาขาวิชาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั้งวันธรรมดา ตอนเย็น  และเสาร์อาทิตย์ จัดการศึกษาทางไกล  และระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท การศึกษานอกระบบ  และตามอัธยาศัยรูปแบบต่างๆ ปฏิรูปสื่อมวลชนให้มีเนื้อหาสาระ ส่งเสริมการเรียนรู้ ยกระดับสติปัญญา  ศิลปวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น การศึกษาแนวใหม่จะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาทางสติปัญญา ทักษะวิชาชีพ การดูแลพัฒนาตัวเอง  สภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ  การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์  ความฉลาดทางจิตสำนึก และรู้จักร่วมมือทำงานกับคนอื่น  เพื่อการพัฒนาองค์กร, พัฒนาชุมชนประเทศ และโลกอย่างสร้างสรรค์โดยมองการณ์ไกล การรู้จักร่วมมือพึ่งพาอาศัยกันอย่างเป็นธรรมจะทำให้เราทั้งหมดเข้มแข็งและอยู่รอดได้ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น