การจัดการศึกษาของไทยมักสะท้อนความเสื่อมมากกว่าความเจริญ ตลาดอุดมศึกษาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ประสบความสำเร็จเพียงประการเดียว คือ การเพิ่มสัดส่วนของผู้ที่เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่การเปลี่ยนทางปริมาณนี้มิได้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด และไม่เป็นผลดีต่อผู้สำเร็จการศึกษา ความเสื่อมโทรมที่ปรากฏให้เห็นเป็นการสร้างกองทัพบัณฑิตผู้ว่างงาน ซึ่งแอบแฝงในรูปแบบของการทำงานไม่ตรงสาขาที่เล่าเรียนมา การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภาคเศรษฐกิจมีความยากลำบากในการจัดหาลูกจ้างที่มีคุณภาพ หรือไม่ก็ไม่สามารถให้อัตราเงินสูงที่เพียงพอสำหรับผู้สมัครงาน นักศึกษาจำนวนมากขาดความกระตือรือร้น ในขณะที่อาจารย์อึดอัดกับคุณภาพของนักศึกษา นักศึกษาปริญญาตรีมีคุณภาพมากกว่านักศึกษาปริญญาโท และบางแห่งนักศึกษาปริญญาโทเก่งกว่านักศึกษาปริญญาเอก ทิศทางที่เป็นห่วงระยะยาว คือ ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่อ่อนลงพร้อมๆ กับสังคมเส้นสาย กำลังส่งเสริมให้แรงงานคุณภาพสูงบางส่วนถูกดึงดูดไปต่างประเทศ ส่วนแรงงานคุณภาพต่ำแต่มีคุณภาพสูงกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด กองทัพผู้ว่างงานนี้อาจต้องอาศัยการว่าจ้างในภาครัฐ ซึ่งก็มีอัตราตำแหน่งที่จำกัดและมีปัญหาผู้ที่เกษียณอายุยังหาช่องทางให้ได้รับการว่าจ้างต่อ ดังนั้นจึงหันไปศึกษาต่อหรือไม่ก็ประกอบอาชีพส่วนตัว ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นภาระสังคม ถึงแม้ว่ากองทัพผู้มีการศึกษาเหล่านี้ ต้องการที่ไม่ใช้ความรู้ แต่ยากที่จะแข่งขันกับคนงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่อดทนกว่าพร้อมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า (เช่นประมาณร้อยละ 40-60 ของแรงงานไทย) ยิ่งถ้าในอนาคตแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษเริ่มที่จะเข้ามาแข่งขันกับคนไทยในตลาดแรงงานฝีมือ ความกดดันนี้ก็จะยิ่งมีความรุนแรงขยายกว้างมากขึ้น นั่นคือประเทศไทยกำลังเสี่ยงอย่างมากกับการลงทุนทางการศึกษาที่สูญเปล่าและขาดคุณภาพกำลังคนเหล่านี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนทางการศึกษาแบบหวังน้ำบ่อหน้าได้ เนื่องจากงานระดับล่างไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ตนจะแข่งขันกับแรงงานจากประเทศเพื่อนได้ และนี่จะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันมีความต้องการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากเกินจริง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญญาหาสถานศึกษาล้นเกินในระยะยาว
ความต้องการทางการศึกษาของกองทัพผู้ว่างงานได้รับการตอบสนองอย่างดีจากการจัดการศึกษาจากภาครัฐ ด้วยการเปิดให้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากมายถึงร้อยกว่ามหาวิทยาลัย และมีหลักสูตรมากมายทีด้อยคุณภาพเพื่อทำธุรกิจกับอุปสงค์เทียมของผู้ว่างงานเหล่านี้ การศึกษาประเภท จ่ายครบจบแน่ จึงสะท้อนความตกต่ำของการศึกษาไทยและที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง อาจเป็นผลมาจากการซื้อเวลาของผู้รับผิดชอบที่มิกล้าตัดสินใจใดๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คำถามคือการจัดการศึกษาของรัฐได้แก้ไขปัญหาความด้อยคุณภาพของการศึกษาอย่างไร ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดสองส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรกมีการปรับโครงสร้างองค์องกร ซึ่งเป็นเรื่องข้าราชการระดับสูงคือผนวกทบวงมหาวิทยาลัยเข้าไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ และแก้ปัญหาความเทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการด้วยการแบ่งโครงสร้างภายในของกระทรวงเป็นแท่งๆ ให้มีจำนวนผู้ใหญ่มากขึ้น หรือไม่ให้ใครมีอำนาจการตัดสินใจได้ แทนที่จะกระจายอำนาจการบริหารออกไปสู่ระดับล่างกลับกลายเป็นการแบ่งอำนาจในแนวนอน เฉพาะในระดับบนซึ่งเป็นการรวบรวมอำนาจแบบหนึ่ง
ส่วนที่สองเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาหลักสูตรประเภทที่จ่ายครบจบแน่ รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาในเชิงรูปแบบกระบวนการด้วยการออกระเบียบมาควบคุมสถาบันการศึกษาและให้มีระบบมาตรฐานขั้นต่ำคล้ายโรงงงาน มีการสร้างตัวชี้วัดมากมายและมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องจัดทำให้ได้ตัวเลขเพื่อใช้ในการประเมิน โดยผู้จัดทำระเบียบอาจหวังว่าความตั้งใจดีของสถาบันการศึกษาจะมากขึ้น และการทำงานที่ลำบากจะทำให้ความขยันในการจัดทำหลักสูตรเชิงพาณิชย์ลดลง ทว่าการแก้ไขด้วยวิธีนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น
1. ประสิทธิภาพการศึกษาลดลง รัฐมีภาระด้านงบประมาณและกำลังคน สำหรับหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานในขณะที่สถาบันการศึกษาเอง มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำงานเอกสารและการประชุมให้หน่วยงานมาตรฐานเหล่านี้ทุกปีๆ ละหลายมาตรฐาน จำต้องปรับภารกิจมาให้งานเอกสารเพื่อให้ส่วนกลางมีอำนาจและมีงานทำ
2. มาตรฐานที่กำหนดเป็นการวัดเพียงเชิงปริมาณที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนเชิงคุณภาพ และเป็นการออกแบให้ใช้กับสถาบันการศึกษาทุกแห่งเหมือนกันหมดไม่มีการแยกแยะหลักสูตรหลักสูตรใหม่เก่า หลักสูตรนานาชาติกับหลักสูตรภาษาไทย
3. หลักสูตรส่วนกลางเป็นเพียงพิธีกรรมขึ้นต้นด้วยที่หวังจะทำให้การศึกษามีมาตรฐาน แต่ตรงกันข้ามเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับหลักสูตรประเภทหลักสูตรจ่ายครบจบแน่
ดังนั้นการจัดการศึกษาแบบ จ่ายครบจบแน่ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลขาดความเอาใจใส่ในการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ ที่เป็นการให้โอกาสที่แท้จริงและถาวรแก่ประชาชน มหกรรมการประเมินทุกภาคส่วน ทุกชั้นเรียน ทุกคนและตลอดปีเป็นเพียงการหลงทางและเป็นเพียงการเกินเลยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพและการทำธุรกิจกับอุปสงค์เทียมได้ นโยบายเช่นนี้จะไม่ทำให้การอุดมศึกษาของไทยดูดีกว่าวิธีการแม่แบบอย่างอังกฤษซึ่งร่ำรวยกว่า หากแต่ได้บั่นทอนคุณภาพการศึกษาด้วยเหตุแห่งการจัดการทรัพยากรที่ผิด
วิเคราะห์สาระสำคัญ
สาระสำคัญที่ได้จากบทความนี้คือ ทำให้เราเห็นวงจรอุบาทว์ของการศึกษามากขึ้น ที่กล่าวว่า จ่ายครบจบแน่ เป็นการจัดการศึกษาไร้คุณภาพ ขาดความเอาใจใส่จากรัฐบาลหรือกระทรวงที่รับผิดชอบ เป็นเพียงแค่การแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจทางการศึกษาเท่านั้น ไม่ให้ความสำต่อองค์ความรู้ที่จะเกิดและการมีงานทำในอนาคต เอาแค่ใบปริญญาเป็นที่ตั้ง แต่การจัดการศึกษาล้มเหลว ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ดังนั้นผู้เขียนเลยคิดว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในด้านที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดการศึกษาในประเทศที่จะพัฒนาคนในประเทศของตนไปในทิศทางใด ถ้ามองการจัดการศึกษาแบบให้ประชากรมีความรู้จริง และนำไปใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ถ้าจัดการศึกษาแบบการประกอบธุรกิจ ไม่มองเรื่องคุณภาพ มองแค่ปริมาณที่จะได้คนเข้าไปศึกษาเพียงอย่างเดียวแล้ว ประเทศชาติก็จะเกิดปัญหาการว่างงาน คนไม่มีงานทำอย่างมากมาย “ แต่คนมีใบปริญญามากมายทั้งปริญญาตรี โทและเอก เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ในกระบวนการจ่ายครบจบแน่ ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น